ว่ากันว่า รถยนต์คันแรกที่เข้ามาในเมืองไทย เป็นเพราะจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซื้อมา ท่านซื้อมาโดยดูจากแคตตาล็อกของฝรั่ง แล้วก็สั่งเข้ามา (แหม! คล้ายๆ ซื้อของออนไลน์สมัยนี้เลยนะครับ)
แต่ปรากฏว่า ซื้อมาแล้วก็ใช้การไม่ได้ เพราะใส่เกียร์ยาก มีผู้บอกว่าที่ไม่ได้ใช้นั้น ได้ยินเขาว่าใส่เกียร์ยากล้นพ้น แปลว่าคงยากจริงๆ ลงเอยก็เลยกลายเป็นรถยนต์ที่ไม่มีใครใช้การ
ในที่สุด กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ จึงเป็นผู้รับสืบทอดรถยนต์คันนี้ ด้วยหมายจะลองแก้ไขให้วิ่งได้ แต่พระองค์ก็ทำไม่สำเร็จ เข้าใจว่า รถคันนั้นน่าจะเป็นรถยุคแรกๆที่ยังออกแบบอะไรไม่ได้ดี ผลก็คือ รถคันนั้นถูกจอดทิ้งไว้ คนพากันมาถอดชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กไปใช้กันคนละชิ้นสองชิ้น ที่สุดก็เหลือแต่ซาก
แต่ใช่ว่ารถยนต์คันแรกของไทยจะทำให้ใครๆ ระอากับรถยนต์ไปเสียหมด เพราะว่ากรมหลวงราชบุรีฯ ท่านทรงสนใจเรื่องนี้จริงๆ ถึงขั้นเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานผลิตรถยนต์ของเดมเลอร์ที่เยอรมัน
จากนั้นท่านก็เลยว่าจ้างให้ผลิตรถขึ้นมาคันหนึ่ง เป็นรถสีเหลืองเปิดประทุนสวยเก๋ ท่านตระเวนยุโรปด้วยรถคันนี้ แล้วถึงนำกลับไทย จากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงขับถวายพระราชบิดา คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วก็น้อมเกล้าฯ ถวาย รถยนต์คันนั้นจึงได้รับพระราชทานนามว่า ‘แก้วจักรพรรดิ์’
สรุปว่า ผู้ชายที่ขับรถยนต์เป็นในเมืองไทยคนแรกคือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
แล้วผู้หญิงเล่า?
ที่จริงแล้ว กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ท่านทรงถวายการสอนและทรงสอนการขับรถยนต์ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ มหาดเล็ก และข้าราชบริพารทั้งหลายด้วย แต่ผู้หญิงคนแรกที่ขับรถยนต์เป็น ก็คือหม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพ ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์นั่นเอง
หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพจึงทรงเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ขับรถยนต์ได้ ที่สำคัญก็คือ ทรงสอบใบอนุญาตขับรถ แล้วกลายมาเป็นครูผู้หญิงสอนขับรถยนต์คนแรกของเมืองไทยด้วย