หลายปีก่อน ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อน่าหวาดเสียวในภาคภาษาไทยว่า ‘มาจากแดนผีดิบ’
ผมคิดว่าชื่อหนังสือน่าจะทำให้หลายคนมองข้ามไป เพราะอาจคิดไปว่าเป็นหนังสือสยองขวัญ
แต่ที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้คือหนังสือว่าด้วย ‘ปาฏิหาริย์แห่งโชคชะตาของพม่าคนหนึ่ง’ ซึ่งไม่ใช่นวนิยายนะครับ แต่นี่คือเรื่องจริงของชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่คนพม่าเสียด้วย ทว่าเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่เกิดอยู่ในที่ห่างไกลในดินแดนที่เรียกว่า ‘ประเทศพม่า’ แต่ที่จริงแล้ว บุคคลในเรื่องซึ่งมีชื่อว่า ปาสกัล ขู เชว ไม่เคยมีสำนึกว่าตัวเองเป็นคนพม่าเลย
เขาเป็นกะเหรี่ยง พูดให้ชัดลงไปอีกก็คือเป็นชนเผ่าปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว ที่มีโอกาสดั้นด้นจากบ้านในภูเขาสูง ผ่านการเดินทางยาวไกลและการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าเข้ามาเล่าเรียนในดินแดนที่ราบของพม่า อันเป็นดินแดนที่ถูกขนานนามโดยชนเผ่าของเขาว่าเป็นดินแดนของ ‘ผีดิบ’ เพราะในความรับรู้ของชาวปะด่อง ผู้คนในที่ราบนั้นช่างโหดร้ายต่อกันเสียจนไม่เหมือนเป็นมนุษย์
ปาสกัลเล่าเรื่องในวัยเด็กของเขาให้เราฟังอย่างเรียบง่าย เขาเล่าถึงอิทธิพลของ ‘ตะวันตก’ ที่แผ่เข้าสู่ชนเผ่าต่างๆ ผ่านทั้งการเผยแผ่ศาสนาของบาทหลวงอิตาเลียน จนทำให้เด็กๆในหมู่บ้านมีชื่อเป็นอิตาลีไปหมด รวมทั้งตัวเขาด้วย เขาเล่าถึงการตื่นขึ้นมาในตอนเช้าพร้อมกับเสียงเพลงของจิม รีฟส์ และนักร้องตะวันตกอื่นๆที่พ่อมักจะเปิดให้ฟัง มันเป็นคลื่นวิทยุของรัฐบาลพม่ายุคโน้นที่ใกล้ชิดกับอังกฤษอย่างยิ่ง
ในเวลาเดียวกัน ปาสกัลก็เล่าให้เราฟังถึงขนบประเพณีของชาวปะด่อง ความหมายของการใส่ห่วงคอ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการนับถือผี ความเชื่อต่างๆ
เนื่องจากปู่ของเขาเป็นหัวหน้าปกครองเผ่า เขาจึงอยู่ชิดใกล้กับศูนย์กลางอำนาจของชนเผ่า และได้รับรู้เรื่องราวต่างๆทั้งที่เกี่ยวพันกับบรรพบุรุษ, ชาวตะวันตกที่รุกคืบเข้ามาประกาศศาสนา รวมถึงอิทธิพลสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่า และแม้แต่เรื่องราวของความรักและเสรีภาพทางเพศของหญิงสาวในชนเผ่า ไม่ใช่เพียงปะด่อง แต่เขาเล่าให้เราฟังถึงเรื่องของชาวฉานที่ก้าวไกลในเรื่องเสรีภาพทางเพศมากกว่าที่เราจะนึกถึง
เมื่อเรียนในมหาวิทยาลัย การเมืองอันผันผวนและโหดร้ายของพม่า ทำให้เขาต้องหนี เพราะรัฐบาลทหารพม่านั้นใช้ทุกวิถีทางเพื่อควบคุมและทำลายคนที่เห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ที่สุดเขาก็ต้องระหกระเหินมาอยู่ที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า และเป็นที่นี่เอง ที่เขาได้พบกับปาฏิหาริย์
ที่จริง ปาฏิหาริย์ของปาสกัลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เขายังเด็ก เมื่อย่าของเขาเดินทางไปอังกฤษเพราะมีนายทุนอยากพาชาวปะด่องคอยาวไป ‘โชว์ตัว’ ตรงนี้ปาสกัลสอดแทรกความเห็นที่น่าสนใจว่าย่าตัดสินใจเดินทางไปอังกฤษ ไม่ใช่เพื่อไปโชว์ตัวในฐานะ ‘ตัวประหลาด’ แต่เอาเข้าจริง ย่าของเขาเดินทางไปดู ‘ตัวประหลาด’ ที่เป็นคนผิวขาวต่างหาก การรับรู้ที่แตกต่างเช่นนี้ทำให้การเดินทางของย่าเป็นไปอย่างเรียบร้อย และหวนคืนสู่มาตุภูมิในที่สุด
ปาสกัลชอบวรรณคดีอังกฤษ เขารักเจมส์ จอยซ์ เป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาเคยทำงานเสิร์ฟในร้านอาหาร และได้พบกับ ดร. จอห์น เคซีย์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่เคมบริดจ์
ดร. จอห์น ได้ยินคำร่ำลือว่า มี ‘เด็กเสิร์ฟ’ ชาวพม่าคนหนึ่งที่อ่านงานของเจมส์ จอยซ์ เขาจึงดั้นด้นมาพบ และที่สุดก็ประทับใจมาก ส่งหนังสือดีๆมาให้เขาอ่านอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อปาสกัลต้องหนีออกจากเมือง ทั้งคู่ก็ขาดการติดต่อกัน จนเมื่อปาสกัลหนีมาอยู่ในค่ายนักศึกษากะเหรี่ยงที่ชายแดนนั่นแล้ว เขาถึงได้ติดต่อ ดร.จอห์น และทั้งคู่ก็ต้องวางแผนหลบหนีเพื่อเดินทางไปประเทศอังกฤษให้ได้
ชีวิตของปาสกัลเป็นชีวิตอันน่าอัศจรรย์ เขาเกือบจะตายหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็หลุดรอดออกมาบอกเล่าถึงความโหดร้ายของรัฐบาลพม่าในยุคนั้น และบางบทตอน เขาก็บอกเล่าให้เราฟังตรงๆ ว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลไทยคนไหนที่มีเอี่ยวกับรัฐบาลทหารพม่าจนมีผลทำให้คนต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากบ้าง
ปาสกัลเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นหลังจากเขาเข้าเรียนที่เคมบริดจ์จนจบ มุมมองของเขาจึงเป็นมุมมองของคนที่มองเห็นแต่ข้อดีของตะวันตก แต่แม้กระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราได้เห็นภาพและเข้าใจถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพม่า และทำความเข้าใจกับยุคสมัยหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านที่ขัดแย้งกับไทยมาเป็นเวลานาน โดยผ่านประสบการณ์ตรงของผู้ชายคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยสีสันไม่ผิดกับประวัติศาสตร์ประเทศของเขานัก
ผมเชื่อว่า อ่านแล้วจะไม่เพียงทำให้คุณเข้าใจพม่า แต่เข้าใจภูมิภาคนี้ในแบบที่มันเป็นมากยิ่งขึ้น