เรื่องน่าหวั่นใจ เมื่อแผ่นไหวเกิดในหน้าฝน

เห็นฝนตกเยอะๆ และเกิดแผ่นดินไหวร่วมด้วยแล้วหวั่นๆ ใจชอบกล

ผมเคยคุยกับนักธรณีวิทยาคนหนึ่ง เขาบอกว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าแผ่นดินไหว ก็คือการเกิดดินถล่มตามมา ดินถล่มนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งก็มีสาเหตุเดียว แต่บางครั้งก็มีสาเหตุร่วมกันหลายๆอย่าง คลื่นไหวสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวก็เป็นสาเหตุหนึ่ง

เวลาเกิดคลื่นไหวสะเทือนขึ้นมา อย่างแรกสุดเลย คลื่นที่ว่านี้จะส่งผ่านพลังงานเข้าไปใน ‘เม็ด’ ของดิน ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า Liquefaction ซึ่งโดยรากศัพท์นั้นแปลว่า การทำให้กลายเป็นของเหลว แต่ในกรณีนี้ไม่ได้มีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ เพียงแต่พลังงานของ ‘คลื่น’ เป็นตัวการทำให้เม็ดดินขยับตัว เกิดมีลักษณะเหมือนคลื่นของเหลวขึ้นได้ (ทั้งที่ยังเป็นของแข็งอยู่นั่นแหละ)

พูดง่ายๆก็คือ ดินมันกระเพื่อมจนเหมือนกลายเป็นผืนน้ำ!

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็มีโอกาสอย่างมากที่ดินแถวๆ เชิงเขาทั้งหลายจะถล่มลงมาเพราะเม็ดของดินมันหลวมและพรุนมากขึ้น

แต่ถึงไม่ถล่มลงมาในทันทีทันใด ก็ยังมีความน่ากลัวอีกแบบหนึ่งได้ เพราะหลังแผ่นดินไหวไป ‘เขย่า’ ให้โครงสร้างดินที่เคยทับถมกันอยู่ ‘หลวม’ ขึ้น เมื่อฝนตกหนักมากๆเข้า เนื้อดินที่หลวมและชุ่มน้ำก็จะมีอาการคล้ายๆกับเป็น ‘ของเหลว’ ที่ ‘ไหล’ ได้ แล้วก็เลยพานไหลม้วนลงมาจากภูเขา พาเอาต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่อยู่บนเขาไหลลงมาด้านล่าง เกิดเป็นภัยพิบัติแบบฉับพลันที่อันตรายร้ายแรงตามมา

ด้วยเหตุนี้ สำหรับผมแล้ว Aftershock จึงไม่ใช่แค่คลื่นไหวสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวใหญ่เท่านั้น แต่ยังอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อีกหลายอย่างด้วย

ผมเคยอ่านชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ริชาร์ด ไฟน์แมน เขาบอกว่าเคยเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่บนภูเขาใกล้ๆบ้าน พอเห็นไฟไหม้ใหญ่อย่างนั้น เขาย้ายบ้านเลยทันที ทั้งที่ไฟไม่ได้ไหม้ตัวบ้านของเขา คนแถวนั้นสงสัยกันว่าทำไมเขาถึงย้ายบ้าน แล้วก็ได้คำตอบในปีถัดมา เพราะเกิดฝนตกหนัก แล้วทำให้ดินบนภูเขาที่ถูกไฟไหม้นั้นถล่มลงมา

ริชาร์ด ไฟน์แมน บอกว่า เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่แล้ว เขารู้ว่าโครงสร้างของชั้นดินต้องเปลี่ยนไป ต้นไม้ที่เคยยึดเกาะเนื้อดินเอาไว้ก็ไม่มี เขาไม่ได้กลัวไฟไหม้มากเท่ากับดินถล่ม ดังนั้นจึงรีบชิงย้ายบ้านหนีเสียก่อน

ให้บังเอิญว่าเกิดเหตุการณ์ตามที่เขาคิดขึ้นในปีถัดมาพอดี หลายคนจึงนับถือเขาเหมือนว่าเขาหยั่งรู้อนาคตได้ แต่แท้จริงเป็นแค่เรื่องธรรมดาๆของการรู้จักสังเกตอย่างละเอียดแล้วใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมาจับเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้ หลายคนรู้สึกได้เลยว่าภัยพิบัติต่างๆตามธรรมชาติที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันนั้น ดูเหมือนจะเกิดรุนแรงและ ‘พ้องพาน’ กันมากขึ้น ยังไม่มีคำอธิบายหรือคำยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆหรอกนะครับ ว่าภัยพิบัติที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน (เช่น แผ่นดินไหวกับโลกร้อน ฯลฯ) จริงๆแล้วมันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า แต่สิ่งที่จะช่วยเราได้ ก็คือการหมั่นสังเกตสภาวะรอบตัว การบานของดอกไม้ การหายไปหรือการปรากฏตัวของแมลงบางอย่าง ฯลฯ 

นั่นอาจทำให้เราได้ข้อสรุปเตือนภัยบางอย่างที่ช่วยชีวิตของเรา เหมือนที่ ริชาร์ด ไฟน์แมน เคยสังเกตก็เป็นได้,

ใครจะไปรู้!