วิทยาศาสตร์ย่อมก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่ในความก้าวหน้านั้น หลายครั้งก็เกิดความขัดแย้งในตัวเองขึ้นมาอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Dilemmas
ทุกปี หลายสำนักจะมีการประมวล ‘ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ทางวิทยาศาสตร์ ว่ามีความก้าวหน้าไหนบ้างที่ก็ฟังดูดี (หรือในอนาคตอาจจำเป็นต้องทำ) แต่ว่ามีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ก่อให้เกิดความพิพักพิพ่วนกระอักกระอ่วน เอ…จะอ้าแขนรับเทคโนโลยีนี้ดีหรือไม่ดีกันนะ
อ่านๆ แล้ว ผมเลยลองประมวลในประมวลเอามาฝากคุณอีกทีหนึ่ง มาดูกันว่า 8 เรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ มันมีอะไรบ้าง
อันดับ 1 : เราควรจะ ‘ออกแบบ’ ลูกของเราได้ไหม?
เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์นะครับ แต่เพราะเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมของมนุษย์ก้าวหน้าไปมาก เราจึงสามารถ ‘ตัดแต่ง’ (edit) จีโนมของลูกเราได้ (อย่างน้อยถึงตอนนี้จะยังทำไม่ได้ เพราะราคาแพงมากๆ แต่ในอนาคตอันใกล้ก็อาจทำได้) โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียว่า CRISPR/Cas9 หรือ Clusterd Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats ซึ่งพูดสั้นที่สุดก็คือการใช้ดีเอ็นเอส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่าโปรคาริโอต มาช่วยในการตัดแต่งดีเอ็นเอของมนุษย์
แล้วทำไปทำไม?
แรกสุดก็คือ ก็ถ้าเด็กทำท่าว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม เราควรจะดัดแปลงยีนของเขาเสียก่อนไหม อันนี้หลายคนคงตอบว่า – ก็ดีนี่นา ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ถ้ามีตังค์ทำได้ก็ทำ
แต่ทีนี้ถ้าราคามันถูกลงเรื่อยๆ ทำง่ายขึ้นเรื่อยๆ ล่ะ จะมีปัญหาอะไรตามมาอีกไหม เช่น อยากให้ลูกผิวขาว ผิวคล้ำ ผมหยิกผมตรง หรืออะไรอื่นๆ อีกสารพัด (แม้แต่เรื่องเพศสภาพ หรือการตัดแต่งเอายีนของพ่อแม่หลายๆ คนใส่เข้าไปในตัวเด็กคนเดียว) ซึ่งหลายคนบอกว่ามันคือการที่มนุษย์ไปยุ่งกับ ‘งานของพระเจ้า’ แต่กระนั้น ก็มีคนเถียงอีกว่า อ้าว! ก็แล้วการปล่อยให้เด็กคลอดออกมาอย่างที่เป็นน่ะ ไม่ใช่การ ‘ตัดสินใจ’ อีกแบบหนึ่งหรอกหรือ เพราะถ้าพูดแบบเคร่งศาสนา เทคโนโลยีนี้พระเจ้าก็สร้างขึ้นมานี่นา
นั่นสิครับ – มันถึงได้เป็น Dilemma!
อันดับ 2 : เราควรจะปล่อยให้หุ่นยนต์มีสิทธิ ‘ฆ่า’ ได้ไหม?
กฎของหุ่นยนต์ที่ไอแซค อาซิมอฟ เขียนไว้ในนิยายของเขามีสามข้อ ข้อแรกสุดเลยก็คือ หุ่นยนต์ทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือปล่อยให้นุษย์ตกอยู่ในอันตรายโดยไม่ทำอะไร – ไม่ได้
พูดอีกอย่างก็คือ หุ่นยนต์ฆ่ามนุษย์ไม่ได้
แต่มันมีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ละเอียดอ่อนมาก เช่น สมมุติว่ามีฆาตกรโรคจิตจะฆ่าเหยื่อ แล้วหุ่นยนต์สามารถหยุดยั้งฆาตกรโรคจิตนั้นได้ด้วยการสังหารฆาตกรเสียก่อนล่ะ หุ่นยนต์ควรได้รับอนุญาตให้ทำแบบนั้นได้ไหม เรื่องนี้ รอน อาร์คิน (Ron Arkin) แห่งสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียในแอตแลนต้า บอกว่าเอาเข้าจริง เราสามารถ ‘ออกแบบ’ หุ่นยนต์ให้มีความคงเส้นคงวาทางอารมณ์และการตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์เสียอีก แม้แต่หุ่นยนต์รบ ก็ยังต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสู้รบ เช่น อาจจะสังหารทหารฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่มีวันทำร้ายพลเรือน ในขณะที่เป็นตัวมนุษย์เองเสียอีก ที่อาจเกิดอารมณ์ชั่ววูบ แล้วฆ่าผู้บริสุทธิ์
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเราทำให้หุ่นยนต์มีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจแบบนี้ คำถามก็คือถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา ก็แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เรื่องนี้เป็น Dilemma มาตั้งแต่แรกมีแนวคิดเรื่องหุ่นยนต์ และจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แถมยังจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์เต็มตัว
อันดับ 3 : ใช้ดาวเทียมสอดส่องแบบเรียลไทม์เลยดีไหม?
ไหนๆ ตอนนี้ก็เกิดเหตุร้าย เกิดการก่อการร้ายมากมายทั่วโลกแล้ว แล้วเราก็มีเทคโนโลยีอยู่กับมือตั้งเยอะแยะ แค่ Google Earth ก็รู้หมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโลก แถมหลายบริษัทก็ปล่อยดาวเทียมขึ้นฟ้าไปตั้งเป็นสิบๆ ดวง เพื่อใช้ดูและบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็น Planet Labs, Skybox Imaging หรือ Digital Globe
ก็แล้วทำไมเราถึงจะไม่ ‘สอดส่อง’ กันอย่างจริงจังไปเลยล่ะ เพราะดาวเทียมพวกนี้นับวันก็จะเล็กลง ราคาถูกลง แต่ซับซ้อนมเทคโนโลยีสูงขึ้น ถึงขนาดที่มี Resolutions ละเอียดระดับ 1 ฟุต ซึ่งถ้าเอามาใช้ตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆ ก็อาจช่วยป้องกันเรื่องเลวร้ายต่างๆ ได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ – เรื่องนี้คือปัญหาเดิมๆ ว่าแล้วมนุษย์เราต้องแลกความปลอดภัยมาด้วย Privacy กระนั้นหรือ?
อันดับ 4 : เราควรไป ‘ยึดครองโลก (อื่น)’ หรือเปล่า?
ที่เห็นๆ เลย ก็คือปฏิบัติการส่งคนไปดาวอังคาร ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้มากๆ นี้ โดยในราวปี 2018 บริษัท Mars One วางแผนจะส่งหุ่นยนต์ไปดาวอังคาร ตามด้วยส่งมนุษย์ไปในปี 2025 แล้วตอนนี้ มนุษย์หลายร้อยคน (ชาย 418 คน หญิง 287คน) ก็กำลังแข่งกันแย่ง 4 ที่นั่ง ที่จะเป็นผู้เดินทางไปยังดาวอังคารเป็นกลุ่มแรกกันอยู่ โดยจะเป็นการเดินทางแบบ ‘เที่ยวเดียว’ คือไม่มีการกลับมา นั่นแปลว่าถ้าประสบความสำเร็จ มนุษย์ก็จะไปตั้งรกรากกันบนดาวอังคารเป็นที่แรก คือจะเกิด Permanent Settlements ขึ้นที่นั่นเป็นการนำร่อง แล้วต่อไปก็อาจเดินทางไปยังดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanets) อื่นๆ อีก
คำถามง่ายๆ (ที่ไม่วิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่) ก็คือ ถ้าเราไม่อยากให้ใครมายึดครองโลก แล้วเราควรจะไปยึดครองโลกอื่นหรือเปล่า ถ้าโลกอื่นมีสิ่งมีชีวิตอยู่ สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมี ‘สิทธิ’ ที่จะเป็นเจ้าของโลกนั้นไหม แล้วถ้ามันเป็นแค่จุลินทรีย์ล่ะ หรือถ้าโลกนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลยล่ะ เราควรทำอย่างไรกันแน่
อันดับ 5 : เราควรจะ Geoengineer โลกไหม?
คำว่า Geoengineer คือการเปลี่ยนแปลงโลกขนานใหญ่ถึงระดับเปลี่ยนลักษณะทางธรณีวิทยา เปลี่ยนภูมิอากาศ ฯลฯ กันเลยทีเดียว เพราะตอนนี้ โลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือภาวะโลกร้อน) กันอยู่ ถ้าจะอยู่รอด เราจึงต้องการการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เช่น การดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากช้ันบรรยากาศด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปล่อยหุ่นยนต์จิ๋วลงไปในทะเลเป็นล้านๆ ตัว หรือเทสารเคมีบางอย่าง (ที่คิดว่าปลอดภัย) ลงไปในทะเล เพื่อให้มันไปดูดซับคาร์บอน ฯลฯ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาอีกนั่นแหละ – ว่ามนุษย์ควรจะทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า และถ้าทำแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดตามมา ใครจะรับผิดชอบ
อันดับ 6 : สัตว์ต่างๆ ล่ะ เราควรให้มันมี ‘สิทธิสัตวชน’ (Animals Rights) เหมือนมนุษย์ไหม
เรื่องนี้จริงๆ เป็นเรื่องเก่านะครับ เพราะเราถกเถียงทางจริยธรรมกันมาเน่ินนาน ระหว่างกลุ่มที่เห็นว่าสัตว์ก็ควรจะมีสิทธิที่จะมีชีวิตของมันไม่ต่างจากมนุษย์ การที่เราเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเอาเนื้อมากินคือเรื่องโหดร้าย
ในช่วงที่ผ่านมา มีบางศาลตัดสินว่า สัตว์บางตัวมีความรับรู้ (Cognition) ในระดับที่เทียบเท่ากับมนุษย์ (อย่างน้อยก็มนุษย์ที่เป็นเด็ก) ดังนั้น สัตว์จึงควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง หรือมี ‘สิทธิ’ ที่เทียบเท่ากับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องการการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อมารับรองว่าสัตว์มีความรับรู้แบบนั้นจริงไหม และสัตว์อะไรบ้างที่ควรจะได้รับการคุ้มครองนี้ ชิมแปนซีอาจจะใช่ แต่หมูล่ะ แล้วหนูล่ะ มันควรได้รับสิทธิในการเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยหรือเปล่า เรื่องนี้จึงซับซ้อนมาก และต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีกเยอะ
อันดับ 7 : มนุษย์ควรจะใช้ ‘ครรภ์เทียม’ ได้หรือยัง?
ครรภ์เทียม (Artificial Wombs) คือการทำให้เด็กสามารถเติบโตได้นอกร่างกายของผู้หญิง คือสร้างครรภ์เทียมที่มีสภาวะต่างๆ เหมือนครรภ์จริง เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหลายมิติ ทั้งเรื่องการเมือง สังคม และปรัชญา
การทำให้เกิดมนุษย์นอกร่างกายมนุษย์ เรียกว่า Ectogenesis ซึ่งแน่นอน – ถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของพระเจ้า แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ทำงานด้านนี้อย่างขมักเขม้น เพราะมีเหตุผลทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น ครรภ์เทียมจะช่วยให้ทารกที่ต้องคลอดก่อนกำหนดสามารถเติบโตต่อไปได้ หรือช่วยผู้หญิงที่ไม่สามารถคลอดได้ด้วยตัวเองแต่อยากมีลูก เป็นต้น แต่ก็มีการถกเถียงกันว่า ครรภ์เทียมจะไป ‘ทำลาย’ ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกไหม เด็กที่เติบโตมาในครรภ์เทียมจะเป็นอย่างไร จิตใจเหี้ยมเกรียมกระด้างหรือเปล่า และอื่นๆ อีกมากมาย
อันดับ 8 : เราควรทำให้ทุกคน ‘ปกติ’ ไหม?
โดยเทคโนโลยีแล้ว เราอาจทำได้ ลองนึกถึงการให้ยาหรือการรักษาที่ทำให้ระบบประสาทในสมองของเรามันราบรื่นแสนสุข เช่น อกหักปุ๊บ กินยาเม็ดเดียวก็หายเศร้า หรือกินยารักษาอาการโกรธเกรี้ยว ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นขึ้นมาได้ สังคมก็คงจะสงบเงียบเรียบร้อยแสนสุขจนแทบจะเป็นยูโทเปียกันไปเลยทีเดียว
แต่เราจะเอาอย่างนั้นกันจริงๆ หรือ?
ในอนาคต เป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถอ่านและควบคุมรูปแบบความคิดของเรา โครงการ Neuralink ของอีลอน มัสก์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยยามจะสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ แถมยังมีการศึกษาเรื่องการปลูกถ่าย ‘ความฉลาด’ ให้กับสมองด้วย
เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เราเป็นสุข ผ่อนคลายไร้กังวล แต่ในเวลาเดียวกันก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า – แล้วนั่นคือ ‘ชีวิต’ หรือเปล่า
8 เรื่องที่นำมาฝาก เป็นเพียง ‘น้ำจิ้ม’ เท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงยังมีเรื่องอิหลักอิเหลื่อในทางวิทยาศาสตร์อีกมากมาย เช่น ถ้าเราทำให้สมองกับสมองติดต่อสื่อสารกันได้คล้ายโทรจิต เราควรจะทำไหม หรือเราควรใช้ Wareable Technology ในการสอดส่องพฤติกรรมของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน เราควรจะทดลองกับเชื้อโรคต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ามันสามารถร้ายแรงถึงขีดสุดมากแค่ไหน รวมไปถึงเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. ต่างๆ ในหลากแง่มุมด้วย
จะว่าน่ากลัวก็น่ากลัว แต่จะว่าท้าทาย – ก็ท้าทายความเป็นมนุษย์ของเราไม่น้อยเลยนะครับ