West World ซีรีส์ที่มีดีตรงดนตรีคลาสสิค

จั่วหัวแบบนี้ ไม่ได้แปลว่า West World ไม่ได้มีอย่างอื่นดีนะครับ นี่เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ดีงามแทบจะทุกด้านตลอดกาลเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

แต่จุดเด่นหนึ่งของ Westworld คือเปียโน โดยเพลงที่เอามาเล่น ส่วนใหญ่เป็นเพลงคลาสสิคประเภท ‘ป๊อบ’ หรือ ‘แมส’ ของคลาสสิค คือเป็นเพลงคลาสสิคที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมฟังกัน เช่น Valse หรือ Nocturn ของโชแปง แล้วก็อื่นๆอีกหลายเพลง (ไม่นับรวมเพลงธีมของมันเองที่ใช้คอร์ดง่ายๆ แต่แปร่งหูดี)

แต่เพลงสำคัญที่อาจจะเป็นต้นกำเนิดเรื่องทั้งหมด น่าจะคือเพลง Rêverie ของเดอบุสซี ซึ่งเป็นเพลงของเดอบุสซีที่ได้รับความนิยมที่สุดเพลงหนึ่ง (อาจจะมี Clair de Lune อีกเพลงที่คนรู้จักพอๆกัน)

อย่างไรก็ตาม เดอบุสซีเคยบอกว่าเขาเสียใจที่มีคนเอาเพลงนี้ไปตีพิมพ์ เพราะมันเป็นเพลงที่ห่วย เขาเขียนแบบรีบๆ เดอบุสซีบอกว่า I frankly consider it absolutely no good คือไม่มีอะไรดีเลย แม้แต่ในหนังสือเกี่ยวกับ piano music ของเดอบุสซี ก็ไม่มีการเอ่ยถึงเพลงนี้เอาไว้ และถ้าไปเสิร์ชใน wiki ก็จะหาเพลงนี้ของเดอบุสซีไม่เจอ คือถ้าจะหาข้อมูล ต้องไปหาเอาจากเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เพราะถือว่าเพลงนี้ insignificant จริงๆ อยู่ในหนังสือเปียโนเกรดห้าเท่านั้นเอง

แต่มันกลับได้รับความนิยมมากๆ

คนยกย่องว่า เดอบุสซีเป็นคีตกวีแนว ‘อิมเพรสชันนิสม์’ ซึ่งถ้าให้นึกถึงภาพเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ หลายคนอาจนึกถึงภาพของโมเนต์ที่มีความเลือนๆ เจือๆ ปนๆ พร่าๆ ไม่ชัดเท่าไหร่

ต้องบอกว่าดนตรีแบบอิมเพรสชันนิสม์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกันครับ

ถึงจะดูอ่อนหวาน แต่ ‘กำเนิด’ ของดนตรีแบบอิมเพรสชันนิสม์ มี ‘สำนึกขบถ’ อยู่เต็มหัวเลยทีเดียว

มันขบถต่ออะไร

ก็ขบถต่อดนตรีในยุคโรแมนติกไงครับ ยุคโรแมนติกนี่ จะมีการใช้ระบบสเกลแบบ major กับ minor กันแบบเห็นชัดๆ (มีคนบอกว่า ใช้กันแบบ dramatic use เลยทีเดียว) ซึ่งลักษณะสำคัญของสเกลหรือคีย์แบบ major หรือ minor ก็คือจะมีรูปคอร์ดแบบ consonance คือเป็นคอร์ดที่ฟังแล้วรื่นหู กลมกลืนกัน (ลองนึกถึงโมซาร์ตหรือโชแปงดูก็ได้ แต่โมซาร์ตเป็นคีตกวียุคคลาสสิคนะครับ ไม่ใช่ยุคโรแมนติก)

ทีนี้พอมาเป็นอิมเพรสชันนิสม์ อาการ ‘ขบถ’ ก็เลยเป็นการขบถต่อเสียงแบบ consonance นี่แหละ

คือทำไมจะต้องทำเสียงให้รื่นหูขนาดนั้นด้วย (วะ)

160819-westworld-s1-blast-07-1280เอกลักษณ์สำคัญของดนตรียุคนี้จึงคือเสียงแบบที่เรียกว่า dissonance คือเป็นคู่เสียงที่ขัดกัน แล้วก็มีการเปลี่ยน tonality (ไม่รู้จะเรียกเป็นภาษาไทยว่ายังไงดี)

คือมักจะทำให้เพลงไม่ได้ชัดๆเป็น major หรือ minor อย่างเดียว ทว่ามีความสลัวๆเลือนๆพร่าๆระหว่าง major กับ minor (ถ้าให้ชัดอาจต้องบอกว่า ลองฟังดนตรีแบบตะวันออก เราจะพบว่ามี tonality ที่ต่างไปจากดนตรีตะวันตก)

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น exotic scale เช่นมีการใช้บันไดเสียงแบบ chromatic คือเสียงห่างกันครึ่งเสียง หรือใช้สเกลแบบ whole tone scale คือทุกเสียงในบันไดเสียงห่างกันหนึ่งเสียง หรือใช้ห้าเสียงแบบ pentatonic (ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นห้าเสียงแบบดนตรีตะวันออกเสมอไป) เป็นต้น

เพลง Rêverie ก็เป็นแบบนี้เปี๊ยบเลยครับ มันมีเอกลักษณ์ของเดอบุสซีหลายอย่าง เช่น สร้างความพร่าเลือนระหว่างคีย์ คือกว่าจะรู้ว่าคีย์อะไรก็ต้องฟังไประยะหนึ่ง

เดอบุสซีใช้คู่เสียง 7 กับ 9 มาเปิด (บีแฟล็ต ซี ดี จี แล้วลงมาเป็นดี ซี บีแฟล็ต ส่วนเมโลดี้แรกที่ตามมาจะให้อารมณ์ลอยๆอยู่ที่จี) แต่เพื่อลด dissonance (ของซีกับดี คือคู่เก้า) เขาใช้วิธีแบบ melodic chord (หรือ appregio) คือไม่ได้กดเสียงพร้อมกัน แต่เล่นทีละเสียง โดยให้กด pedal เปียโน คือทำให้เสียงดังยาวนานต่อเนื่อง แล้วประสานกันออกมาเป็นคอร์ดที่มีลักษณะ hazy ชวนฝัน (ชื่อเพลงแปลว่า daydream)

น่าเสียดายที่ใน Westworld เอามาใช้แค่ช่วงแรกๆ เลยไม่ได้ฟังกันจนจบเพลง แต่ก็ทำให้เห็น ‘ความหมาย’ ที่ซ้อนซ่อนอยู่เยอะมากจากแค่เพลงนี้เพลงเดียว

ทั้งชีวิตที่อยู่ในเขาวงกต ความคลุมเครือพร่าเลือน การซ้อนทับกันของ conciousness และมิติของเวลา การขบถ การไม่อาจพ้นไป ความแย้งกันของ high art และรสนิยมสาธารณ์ ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำให้ Wesworld พ้นไปจากความเป็นไมเคิล ไครช์ตัน (คิดว่าไคชร์ตันควรจะขอบคุณผู้สร้างให้มากๆ) แต่ที่สำคัญที่สุด ดนตรีแบบอิมเพรสชันนิสม์และลักษณะเฉพาะของมัน น่าจะมีผลกับชื่อตอน Dissonance Theory ด้วย

นอกจากเดอบุสซีแล้ว ในเรื่องยังมีวอลตซ์ Op 69 ในคีย์เอแฟล็ตของโชแปงปรากฏอยู่ครั้งหนึ่ง(ครั้งเดียวเท่านั้น) เป็นวอลตซ์ที่อ่อนหวานแต่ซ่อนความแข็งแกร่งเอาไว้ข้างใน อยู่ในตอน 8 คือตอน Trace Decay อันนี้ก็ต้องบอกว่าเก๋มากอีก เพราะ Waltz อันนี้ของโชแปง (ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเล่นบ่อยมาก) มีชื่อเล่นว่า The Farewell Waltz หรือวอลทซ์แห่งการจากลา

เพลงของโชแปงนี่มักจะมีสองบุคลิก ด้านหนึ่งคือ melancholic และ nostalgic อีกด้านคือ heroic ในวอลตซ์อันนี้มีทั้งสองอย่าง เหมือนคนเราละล้าละลัง จะไปหรือไม่ไป จะอยู่หรือไม่อยู่ จะตายหรือไม่ตาย อะไรทำนองนั้น

สรุปว่าเอาดนตรีคลาสสิคมาใส่ได้ ‘เหมาะแมส’ ดี ลงตัวกับเรื่องครับ