ไม่รู้เหมือนกันว่าคืนนี้พระจันทร์ของคุณเป็นอย่างไร มืดมิด เป็นเสี้ยวส่วน หรือเต็มดวง
อย่างไรก็ตาม เมื่อนึกถึงพระจันทร์ ผมจะนึกถึงพระจันทร์ที่เคยเห็นว่าใหญ่ที่สุด คือตอนไปกรีซ ตอนนั้นอยู่บนเกาะมิโคโนสตอนหัวค่ำ มันใหญ่มากเหมือนในหนังเรื่อง E.T. ตอนที่ขี่จักรยานผ่านดวงจันทร์ยังไงยังงั้น แต่พอดึกขึ้น พระจันทร์ก็ค่อยๆเล็กลง
นั่นทำให้ผมสงสัยว่า ทำไมเราถึงเห็นพระจันทร์ตอนอยู่ต่ำๆ (ใกล้เส้นขอบฟ้า) จึงใหญ่กว่าตอนอยู่สูงๆ แล้วก็คิด (ไปเอง) ว่าต้องมีคำอธิบายแน่ๆ เพราะวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามามากแล้ว
แต่เชื่อไหมครับ ว่าจนปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเถียงกันอยู่เลย ว่า Moon Illusion นี้มันเกิดขึ้นจากอะไร (พูดง่ายๆก็คือ-ยังไม่รู้นั่นแหละ ซึ่งน่าประหลาดแท้!)
เขาบอกว่า เรื่องนี้สังเกตกันมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณแล้ว อริสโตเติลก็บันทึกไว้ ปโตเลมีอธิบายว่าเป็นเพราะชั้นบรรยากาศทำหน้าที่เหมือนตัวขยายภาพ ทำให้พระจันทร์ใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่จริง เพราะ visual image ของพระจันทร์ตอนอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าจะเล็กกว่าตอนอยู่สูงๆ 1.5% ด้วยซ้ำไป
ในยุคใหม่นี้มีความพยายามจะอธิบายอีกหลายแบบ เช่นเป็นเรื่อง ‘มุม’ ของการมองที่ทำให้เมฆดูใหญ่เล็กไม่เท่ากัน แล้วเลยทำให้ดูเหมือนพระจันทร์ใหญ่กว่าเวลาอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า
หรือทฤษฎีเกี่ยวกับเรตินาของตาที่ทำให้เห็นพระจันทร์ในตำแหน่งต่างกันใหญ่เล็กไม่เท่ากัน คือเป็นการตีความของสมองเอง
เพราะเอาเข้าจริง ไม่ว่าพระจันทร์จะ ‘ดู’ ใหญ่ขนาดไหนเวลาอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า แต่ถ้าเราลองทำ ‘ท่อ’ โดยใช้กระดาษม้วนๆให้มีขนาดเท่ากับพระจ้นทร์โดยเอาเทปติดยึดไว้ แล้วมาส่องดูพระจันทร์อีกทีตอนดึกๆ ก็จะเห็นว่าขนาดของพระจันทร์ไม่ได้เปลี่ยนไป
คนก็เลยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Moon Illusion คือพระจันทร์มัน ‘ลวงตา’ เรา ซึ่งอาจจะทำให้มนุษย์พิศวงงงงวยในพระจันทร์ตลอดมา (แม้แต่ อิมมานูเอล คานท์ ก็ยังเคยเขียนถึงปรากฏการณ์นี้)
Moon Illusion นี่ ทำให้สำนึกขึ้นมาทันทีว่า ยังมีเรื่องอีกเยอะนัก ที่มนุษย์เราอธิบายยังไม่ได้