ถ้าต้องเลือกระหว่าง บทความดีๆกับวรรณกรรมดีๆ จะเลือกอะไร

อยากให้ผมลองตอบคำถามอะไร ทิ้งคำถามต่างๆ ไว้ได้ ที่นี่ เลยนะครับ

ผมจะค่อยๆ ทยอยตอบครับ

 

Q : ถ้าตลอดชีวิต ต้องเลือกระหว่าง บทความดีๆกับวรรณกรรมดีๆ ต้องเลือกอย่างใดอย่างนึง คุณจะเลือกอะไรคะ ขอเหตุผลด้วยค่ะ

 

A : คำถามนี้สนุกมากเลย ขอบคุณที่ถามครับ

คำตอบของผมก็คือ พอมีคำว่า ‘ดีๆ’ เข้ามาประกอบแล้ว ผมเลยคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องเลือกครับ

เรามักจะคิดว่า ถ้าเป็นงานบทความ (ผมเข้าใจว่าคือ non-fiction) กับงานวรรณกรรม (อันนี้ก็เข้าใจว่าเป็น fiction ครับ) สองอย่างนี้ต้องอยู่คนละขั้ว อย่างหนึ่งเป็นงานที่มาจากข้อมูลความคิด อีกอย่างหนึ่งเป็นงานที่มาจากจินตนาการ

แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานบทความหรืองานวรรณกรรม ถ้ามัน ‘ดี’ จริงๆ แล้ว มันจะพาเราไปพบกับสิ่งเดียวกันนะครับ

สิ่งนั้นก็คือ – ความรู้, ความงาม และที่สำคัญที่สุดก็คือ, ความจริง

งานบทความ (หรือสารคดี) อาจมีฐานมาจากข้อมูลก็จริงอยู่ แต่สารคดีหรือบทความที่ดี ก็ต้องมีลีลาและวิธีเขียนที่มีรสวรรณกรรมด้วย ฝรั่งเรียกว่าผ่านกระบวนการ Fictionalization ซึ่งไม่ได้แปลว่าการยกเมฆหรือสร้างเรื่องขึ้นจากจินตนาการอย่างเดียว (ซึ่งขัดกับความเป็นสารคดี) แต่ใช้วิธีการของ Fiction ในรูปแบบต่างๆ มาทำให้ตัวข้อมูลนั้นน่าสนใจยิ่งขึ้น

ถ้าให้ยกตัวอย่างหนังสือแบบนี้ที่เห็นชัดมากๆ ก็อย่างเช่นหนังสือ Stuff Matters ของ Mark Miodownik แปลโดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล ของสำนักพิมพ์ openworlds ที่แม้จะพูดถึงวัตถุต่างๆ (เช่น เหล็ก กระดาษ ฯลฯ) ในแบบวิชาวัสดุศาสตร์จ๋ามาก แต่แต่ละบทเขาจะใช้วิธีเขียนไม่เหมือนกันเลย ทำให้ออกมามีรสอร่อยในการอ่าน

หรืองานเขียนของ Richard Dawkins ที่เป็นงานเชิงวิทยาศาสตร์ (แถมเขายังเป็นคนปากจัด ทำให้หลายคนไม่ชอบ) แต่เขามีวิธีเขียนที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษว่า articulate มากๆ ทำให้ออกมาเป็นงานที่อ่านสนุกและคมคายเหลือร้ายเลยทีเดียว

ในเวลาเดียวกัน ฟากฝั่งงานวรรณกรรมหรือ Fiction ก็ไม่ได้แปลว่าจะสร้างขึ้นมาจากจินตนาการยกเมฆล้วนๆ งานวรรณกรรมที่ดีมีกำเนิดมาจากชีวิตของเรานี่แหละครับ ถ้าเราอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เราก็จะได้ภาพของครอบครัวและสังคมในอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นภาพที่พาเราเข้าไปคลุกคลีลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่กับข้อมูลหรือรายละเอียดของครอบครัวบูเอนดิยาร์เท่านั้นนะครับ แต่ลึกไปถึงความรู้สึก ความเชื่อ โดยผ่านวิธีเล่าที่ไปไกลถึงขั้นสัจนิยมมหัศจรรย์กันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เรื่องแต่งอีกมากมายก็อิงมาจากเรื่องจริง ตัวอย่างเช่น Gone with the Wind นี่ ผู้เขียนก็ต้องค้นคว้าประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองอเมริกันอย่างหนักหนาสาหัส หรืองานเขียนของ อ.ต้น – อนุสรณ์ ติปยานนท์ หลายเล่มก็เห็นได้ชัดว่ามาจากข้อมูลต่างๆ ซึ่งผ่านการทำให้เป็นเรื่องแต่งอีกทีหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการทำงานที่พาเราโลดเต้นไปไกลแสนไกลในภาษา วิธีเขียน และจินตนาการ

ดังนั้น ถ้าโลกนี้จะต้องเหลือแต่เรื่องแต่งหรือบทความอย่างเดียว ถ้ามัน ‘ดี’ อย่างที่ว่า – ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ ถ้าต้องเลือกอ่านอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะล้วนทรงคุณค่าและพาเราไปสู่ความรู้ ความงาม และความจริง, ได้ทั้งสิ้นครับ