คิดเล่นๆเนื่องจากอ่านพบเรื่องความกลัวของแม่สมัยใหม่คนหนึ่งที่กำลังจะมีลูก และพยายามคิดถึงเรื่องนี้ในลักษณะของ ‘การลงทุน’ แบบหนึ่ง
คิดว่าสำหรับคนในสังคมเกษตรกรรมสมัยโบราณ การมีลูกคือการบวกเพิ่ม ‘ต้นทุน’ ในชีวิต ลูกคือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสามารถใช้งานลูกได้ และการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยายก็ทำให้อำนาจต่อรองในชุมชนแข็งแกร่งขึ้นด้วย
แต่ต้นทุนจากลูกแต่ละคนอาจไม่ได้ดีเสมอไป การมีลูกเยอะๆจึงช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงเพื่อให้โดยรวมแล้วต้นทุนยังเป็นบวก
สภาพแวดล้อมและโครงสร้างสังคมสมัยก่อน (เช่นการมีครอบครัวขยาย) ช่วยทำให้ความเสี่ยงในการเพิ่มต้นทุนนี้ต่ำลง จึงคุ้มที่จะมีลูกมากๆ
แต่สำหรับคนชั้นกลางสมัยนี้ การมีลูกไม่ได้หมายถึง ‘ต้นทุน’ ที่เพิ่มขึ้นทันที
การมีลูกคือ ‘การลงทุน’ ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะคนมีลูกน้อยลง ทุกคนจึงทุ่มเทลงทุนมหาศาลกับลูกแต่ละคน โดยไม่มีบริษัทประกันภัยไหนรับประกันความเสี่ยงเลยว่า การลงทุน (ค่าเล่าเรียน ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าความรัก ไปจนถึง ‘ค่าพ่อแม่รังแกฉัน’ ฯลฯ) กับลูกที่มากมายมหาศาลนั้นจะให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร
ยิ่งจำนวนลูกน้อย ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงว่าเงินและหัวใจที่ลงทุนไปจะสูญเปล่าหรือไม่
เพราะเป็นไปได้ว่าลูกอาจดีงามหรือเลวทรามก็ได้ เพราะเด็กในปัจจุบันไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือชุมชนอย่างเดียว แต่ถูกกล่อมเกลาจากสังคมที่ซับซ้อนขึ้นมากด้วย
ในบางแง่มุม การมีลูกจึงเป็นคล้ายๆ การลงทุนในตลาดหุ้นแบบหวังเก็งกำไร คืออาจกลายร่างเป็นการ ‘เล่นพนัน’ ครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของหลายคน ว่าลูกจะโตขึ้นมาเป็นอย่างไร
ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลย ที่คนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยอยากมีลูก และที่จริงก็กลัวมาตั้งแต่การแต่งงานแล้ว เพราะทั้งสองอย่างเพิ่ม ‘ความเสี่ยง’ ในชีวิตให้ทั้งคู่
ถ้าเลี้ยงลูกแบบนักเก็งกำไร เราจะคาดหมายผลตอบแทนจาก ‘มูลค่าหุ้น’ ที่เยอะมากๆ แต่ถ้าหุ้นมูลค่าตก วันหนึ่งเราก็อาจถึงขั้น ‘ขายทิ้ง’ ไปได้
ถ้าเลี้ยงลูกแบบ ‘นักลงทุน’ เราอาจค่อยๆ ฟูมฟักและเฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูก แต่ที่สุดเราก็จะยังหวัง ‘เงินปันผล’ ตอบแทนกลับมาอยู่ดี โดยเฉพาะในรูปแบบของความกตัญญู
แต่ถ้าเราเชื่อว่า ความรักของพ่อแม่ไม่ต้องการอะไรตอบแทน การเลี้ยงลูกก็ไม่ควรเป็นการ ‘ลงทุน’ ใดๆ ทั้งสิ้น แต่คือการ ‘ปล่อย’ ให้ลูกได้มีชีวิตของตัวเอง โดยพ่อแม่ดูแลประคับประคองอยู่ห่างๆ
คำถามก็คือ – ในระดับจิตใต้สำนึก, พ่อแม่จำนวนมากเชื่อหรือเห็นว่าลูกไม่ใช่ ‘การลงทุน’ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยมีดอกผลคือความกตัญญูได้, จริงๆ หรือ