การโตเป็นผู้ใหญ่ในโลกจริงๆ บางครั้งแปลว่าเราต้อง ‘สลัด’ ความเป็นเด็กไปด้วย เช่น วางมาดขรึม ใส่สูท (แม้แต่ในผู้หญิง) ทำท่าเก่งกาจเหนือกว่าอยู่เสมอเพื่อต่อสู้ต่อรองในโลกอันโหดร้าย
อย่างไรก็ตาม ลักษณะหนึ่งของความเป็นเด็ก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Playfulness (ไม่แน่ใจว่าจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไรดี จะแปลว่า ‘ขี้เล่น’ ก็ไม่ตรงนัก หรือ ‘ชอบสนุก’ ก็ไม่ใช่อีก)
คุณ Rene Proyer จากมหาวิทยาลัย Martin Luther University (MLU) ของเยอรมนี ซึ่งศึกษาเรื่อง Playfulness ในผู้ใหญ่ ได้ให้นิยาม Playfulness เอาไว้ว่า เกี่ยวข้องกับห้ามิติ คือ ไม่สร้างพื้นที่ส่วนตัวเยอะเกินไปจนคนอื่นเข้าถึงไม่ได้ (extraversion), น่าคบ อัธยาศัยดี (agreeableness) ซื่อตรง ไม่คิดคดฉ้อโกง (conscientiousness), เปิดกว้าง (openness) และไม่แปรปรวนทางอารมณ์ง่ายจนคนอื่นจับทางไม่ถูก (มี emotional stability) (ดูเรื่องนี้ได้ ที่นี่)
โดยรวมๆ Playfulness ในผู้ใหญ่จึงหมายถึงมีความ ‘สนุกสนาน’ ไปกับสิ่งต่างๆในชีวิต (ไม่ใช่แค่รักสนุกหรือขี้เล่นอย่างเดียว) ไม่ใช่แค่เราสนุกสนานอยู่คนเดียว แต่ทำให้คนที่อยู่รอบข้างสนุกสนานไปด้วย โดยคนที่ Playful นั้น จะมีความสามารถในการ ‘ตีความ’ (reinterpret) สถานการณ์ต่างๆในชีวิตให้ออกมาแบบ ‘สนุกสนาน’ ได้ โดยผู้ใหญ่ที่เป็น Playful Adults นั้น คุณ Proyer บอกว่ามีอยู่สี่แบบ คือ
1) พวกที่ ‘ขี้เล่น’ จริงๆ เรียกว่าเป็น palyful แบบ fool around (ซึ่งในบางครั้งก็มากเกินไป)
2) พวกที่เห็นว่าชีวิตทั้งชีวิตคือเกมสนุก (เรียกว่า light-heartedly playful ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนในชีวิตพอสมควร ทำให้ทำทุกอย่างสนุกๆได้)
3) พวกที่ชอบเล่นสนุกทางความคิด เรียกว่า intellectual playfulness กลุ่มนี้จะเปลี่ยนงานน่าเบื่อให้น่าสนใจได้
4) พวกที่สนุกกับเรื่องแปลกๆ กับการสังเกตเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน (เรียกว่า whinsical playfulness) ทำให้มีอารมณ์ขัน (ซึ่งอาจจะเป็นแบบดาร์คๆก็ได้)
แม้ Playfulness จะทำให้ชีวิตสนุกสนาน แต่ในอีกด้านก็ถูกมองว่าเหมือนเป็นโรค Peter Pan Syndrome คือเป็นเด็กไม่รู้จักโต ทำให้มีนัยแง่ลบ โดยเฉพาะ Playfulness ในแบบที่ 1
คำถามก็คือ-เราอยากเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นเด็กอยู่ในหัวใจอยู่หรือเปล่า
ถ้าอยาก-บางทีคำว่า Playfulness อาจเป็นคำตอบก็ได้