เพื่อนเก่าคนหนึ่งบอกว่า สมัยยังเรียนมัธยม ผมเป็นคที่ชอบแข่งขันทุกอย่าง
ตั้่งแต่ตอบปัญหาภาษาอังกฤษ ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ไปยอวาที โต้วาที แข่งพิมพ์ดีด ประกวดดนตรี ประกวดร้องเพลง ประกวดอ่านออกเสียง (ไม่ได้ทำอย่างเดียวคือแข่งเป็นประธานนักเรียน เพราะไม่ชอบต้องไปหาเสียงเว้าวอนคนอื่น)
คำพูดของเพื่อนทำให้นึกขึ้นได้ว่า อันที่จริง การไปสอบเทียบ สอบชิงทุน สอบคัดเลือก หรือเขียนหนังสือไปลงในนิตยสารตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม หลายครั้งผมไม่ได้ทำเพราะอยากทำ – มากเท่าทำเพราะอยากแข่ง
แทบทุกอย่างมี ‘ความอยากเอาชนะ’ หรืออยากบอกโลกว่า ‘กูเก่งกว่ามึง’ อยู่เสมอ แถมถ้าตระหนักว่าไม่ได้เก่งที่สุดในบางเรื่อง ก็ยังหน้าไม่อายบอกตัวเองได้ด้วยว่า แต่คนที่เก่งกว่าในเรื่องต่างๆ นั้น ถ้าเอาทุกเรื่องมารวมกันแล้วหารเฉลี่ยก็ไม่มีทางหรอกที่จะมาเก่งกว่า ‘ตัวกู’ ไปได้ เพราะ ‘ตัวกู’ ได้ฟูมฟักตัวเองมาให้เก่งทุกเรื่อง เก่งแม้กระทั่งการทำท่าคมในฝัก คือแสร้งทำให้เปลือกนอกดูไม่เก่ง ดูหงอๆหงอยๆไว้ก่อน แต่พอขึ้นเวทีแล้วค่อยเชือดคู่แข่งทีเดียว-อะไรทำนองนั้นด้วย
ซึ่งแม้แต่ในตอนนั้นก็ตระหนักดีว่าเลว (แต่เป็นการตระหนักพร้อมกับแอบป้องปากหัวเราะ)
สมัยนั้น ทุกครั้งที่แพ้อะไรใหญ่ๆ (ที่จริง ถ้าเราผ่านวิกฤตอะไรมาได้แล้วมองย้อนกลับไป จะพบว่าไม่มีอะไร ‘ใหญ่’ สักอย่าง) จะเจ็บปวดรวดร้าวเหลือแสน เหมือนโลกแตกดับพังทลายไปต่อหน้า และปลอบใจตัวเองด้วยการเอาชนะในครั้งต่อไปให้ได้ (เช่นเคยสอบได้ที่ 8 เลยด่าเพื่อนที่สอบได้ที่ 1 แล้วครั้งต่อไปก็เอาชนะมันด้วยการสอบให้ได้ที่ 1 แบบไม่ท่องหนังสือ คือตั้งใจเรียนในห้องอย่างเดียวเพื่อให้เพื่อนรู้ว่ากูเก่งกว่ามึง-ซึ่งเลวจริงๆ)
แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้แล้วว่า จะแพ้หรือชนะก็ไม่มีอะไรเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขนาดนั้น ทำให้คลี่คลายความอยากเอาชนะมาได้เรื่อยๆ ทีละเปลาะๆ
แต่พอมาถึงทุกวันนี้ (ที่อาจจะเริ่มแก่แล้ว T-T ) กลับเริ่มรู้สึกว่าอาจเหวี่ยงมาอีกข้างมากไปหน่อย คือค่อนข้างซังกะตาย ไม่อยากจะแข่งอะไรกับใครทั้งนั้น
ทั้งสองขั้วที่เหวี่ยงไปจนสุด – ล้วนแต่ไม่ดีทั้งคู่
เมื่อมองย้อนไป การคิดว่าตัวเอง ‘ต้องเก่ง’ อยู่เสมอ หรืออยากเอาชนะคนอื่นเพื่อฟูมฟัก ‘ตัวกู’ อยู่เสมอนั้น แม้จะมีข้อเสียมากมาย แต่ในด้านกลับก็มีความดีของมันอยู่ด้วย คือมันช่วยให้เรามีพลังบางอย่างในชีวิต เช่น ต้องอ่านหนังสือให้เยอะกว่าคนอื่น จะไม่ยอมรู้น้อยกว่าเพื่อน (หรือแม้กระทั่งครู) เป็นอันขาด (เคยถึงขนาดยกมือบอกครูว่าสอนผิด แล้วเดินออกไปหน้ากระดานดำ แก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ครูกำลังสอนผิดให้เพื่อนดู ซึ่งครูก็แสนดี ขอบคุณและชมเราอีกต่างหาก)
แต่กระนั้นการฟูมฟักความเก่ง ก็เท่ากับฟูมฟัก ‘ตัวกู’ หรือ ego ในตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ของความเก่งที่ล้นเกิน หลายครั้งจึงกลายร่างมาเป็น egotism ที่ทำให้เราเห็นแต่ความเก่งของตัวเอง อันเป็นสาเหตุของทุกข์อีกแบบหนึ่ง
เป็นทุกข์ซึ่งเหมือนหมุนวนลงไปในหลุมดำที่ไร้ที่สิ้นสุด แต่ในเวลาเดียวกัน อาการซังกะตายไม่อยากแข่งอะไรกับใคร ก็เหมือนล่องลอยไปในอวกาศเพ้อๆ ไม่มีสิ้นสุดด้วย ได้แต่นั่งนอนมองดูเพดาน เฝ้าคิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้ลงมือทำ
ที่สุด ทั้งสองทางจึงทุกข์พอๆ กัน
ไม่อยากสรุปว่า – ที่สุดแล้วเราต้องพยายามรักษาบาลานซ์ เพราะมนุษย์เราคงไม่สามารถมีบาลานซ์ระหว่างความหลงตัวเองกับความซังกะตายได้
เอาเข้าจริง เรามักจะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างสองขั้วนี้มากกว่าสถิตย์นิ่งอยู่กับที่ และในความเป็นมนุษย์ – การเหวี่ยงไปมานี่แหละที่สนุก เหมือนสิทธารถะนั่งเรือข้ามฟากกลับไปกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะเหนื่อยล้า
แล้วพอเหนื่อย เข้าใจว่าประเดี๋ยวสิ่งที่เรียกว่าสมดุล (so-called balance) มันก็จะเกิดขึ้นมาเองโดยที่ไม่ต้องไปผลักไสบังคับ
เพราะเราบังคับตัวเองให้สถิตย์นิ่งมีบาลานซ์ไม่ได้หรอก
การเหวี่ยงไปมาระหว่างภาวะซังกะตายและภาวะหลงตัวเองคิดว่าตัวเองเก่ง จึงคล้ายลูกตุ้มนาฬิกา
นั่นคือถ้ามันไม่เหวี่ยงไปมามันจะตาย แต่คำถามก็คือ จะทำอย่างไรให้การเหวี่ยงไปมานั้นเกิดประโยชน์อะไรบางอย่างได้ – ไม่ว่าจะในชีวิต, หรือในการทำงานก็ตาม