สองปีที่แล้ว ไปปั่นจักรยานขึ้นดอยสุเทพมา ระยะทางจากครูบาศรีวิชัยขึ้นไปถึงข้างบนประมาณ 12 กิโลเมตร (แม่ค้าที่จุดชมวิวระหว่างทางบอกว่าจากครูบาฯ ถึงจุดชมวิวคือ 7 กม. จากตรงนั้นถึงยอดดอยคือ 5 กม.)
มีคนบอกว่า ความชันของการปั่นอยู่ที่ 5% ซึ่งเดาไม่ออกว่าเท่าไหร่ (ตอนไปปั่นที่ญี่ปุ่น ความชันอยู่ที่ 3% ก็พอไหวอยู่ ไม่ยาก เพราะตอนนั้นใช้จักรยานแม่บ้านปั่น ก็ปั่นได้)
พบว่าช่วงแรกๆ อยากปั่นให้เร็ว ใจไปอยู่ที่ปลายทาง เลยเหนื่อยเร็ว ต้องพักสองสามครั้ง จนครั้งหนึ่ง ขณะหยุดพัก เจอผู้หญิงคนหนึ่งปั่นจักรยานที่มีตะกร้าหวายติดตรงท้ายรถ เธอปั่นไปช้าๆ ปั่นไปยิ้มไป ร้องเพลงไป เธอตะโกนถามว่า “ไปข้างบนเหรอ” เหมือนถามว่าจะขึ้นบันไดบ้านไปชั้นสองเหรอ
ก็เลยเกิดปิ๊งวาบขึ้นมาว่า ตลอดทางที่ปั่นมานั้น เราปั่นผิดหมดเลย ที่จริงใจต้องไม่อยู่ที่ปลายทาง แต่ต้องอยู่กับเราที่ตรงนั้น (ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องง่ายๆที่เคยฝึกมาแล้ว แต่พอตอนนี้กลับลืม) พอปั่นจากจุดนั้นไป ก็เลยไม่ได้หยุดอีก แต่ค่อยๆไป ให้ใจอยู่กับการกดบันไดจักรยานไปทีละครั้งๆ จนในที่สุดก็ไปหยุดรอเพื่อนอยู่ที่ที่พักชมวิวกลางทาง
(เพื่อนของเพื่อนบอกว่าอย่าแวะพัก เพราะมีคนผูกคอตายที่นั่นสามรายละ รายล่าสุดคือเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัวอะไร)
ตอนอ่านรีวิวการปั่นขึ้นดอยสุเทพ มีแต่คนบอกว่าจากตีนดอยถึงที่พักริมทางไม่ชันเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นจะชันมาก ดังนั้นเมื่อพักเสร็จจึงตั้งใจเป็นพิเศษว่าจะไม่หยุดอีกแล้ว และระยะทางก็แค่ 5 กม. ไม่น่าจะมีปัญหา
แล้วก็ใช้วิธีไปช้าๆ วางใจไว้ที่เท้า (คือบันไดรถจักรยาน 555) แล้วปั่นไปทีละก้าวๆ ปรากฏว่าพอทำแบบนี้กลับไปได้เร็วกว่าเดิมมากๆ
เวลาวิ่ง จะมีบางช่วงความเร็วที่เรารู้สึกว่าพลังงานที่ออกไปกับพลังงานที่สร้างขึ้นใหม่มันเสมอกัน จึงสามารถวิ่งต่อไปได้เรื่อยๆไม่เหนื่อย การปั่นวันนี้ก็คล้ายกัน พอวางใจไว้ที่เท้าแล้วก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการปั่นอีก สามารถขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงน้ำตกก่อนโค้งสุดท้ายที่ชันมากๆ
ทุกครั้งที่ขึ้นดอยสุเทพ เวลาผ่านน้ำตกนี้จะอยากหยุดชื่นชมมันเสมอ แต่ไม่เคยได้หยุดเลย เพราะขับรถขึ้นมาจึงไม่มีที่ให้หยุด คราวนี้เลยได้โอกาสหยุดถ่ายรูปสองนาทีแล้วก็รีบปั่นต่อ เพราะจริงๆอยากท้าทายตัวเองด้วยว่าให้ขึ้นไปถึงยอดดอยได้โดยไม่ต้องหยุด แล้วหลังจากนั้นก็ขึ้นไปจนถึง แม้ความชันช่วงสุดท้ายจะมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร
ที่สนุกมากก็คือตอนดาวน์ฮิลล์ลงมา คิดว่าทั้งหมดใช้เวลาแค่สิบห้าหรือยี่สิบนาทีเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ยิ่งต้องอยู่กับตัวเอง เพราะพลาดแค่วินาทีเดียวก็อาจล้มคว่ำได้ ลมที่พัดนั้นแรงพอๆกับตอนกระโดดร่ม (ผมเคยกระโดดร่มครั้งหนึ่ง) แต่อันตรายกว่าเพราะทุกอย่างอยู่ในมือของเราเอง ไม่มีครูฝึกมาอยู่บนหลังเหมือนกระโดดร่ม
พอลงมาถึงพื้นราบแล้ว ได้แต่คิดว่าชาวเชียงใหม่นั้นช่างโชคดี เพราะเช้าๆ สามารถปั่นขึ้นไป (เราใช้เวลา 1.13 ชั่วโมง) แล้วก็ดาวน์ฮิลลงมากินอาหารเช้าได้ง่ายๆ เลย
จากที่เคยเกลียดการปั่นขึ้นเขายาวๆ (เพราะประสบการณ์ตอนปั่นจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง ทำให้ป่วย) ตอนนี้ไม่เกลียดแล้ว แต่กลายเป็นชอบแทน ที่อยากลองอีกก็คือการใช้เสือหมอบแทนเสือภูเขา น่าจะสนุกยิ่งขึ้น