ผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้
ชื่อของหนังสือก็คือ The Sharper Your Knife, The Less You Cry ซึ่งก็แปลได้อย่างที่นำมาเป็นชื่อเรื่องนี้นี่แหละครับ แม้ว่าชื่อภาษาไทยออกแนวตรงไปตรงมาไปหน่อย แต่ก็คงพุ่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีทีเดียว เพราะนี่คือหนังสือที่เล่าเรื่องการไปเรียนในสถาบันอาหารลือชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นั่นคือ เลอ กอร์ดง เบลอ
ปัจจุบันนี้มีคนไทยไปเรียนทำอาหารที่สถาบันนี้มากมายเหลือเกิน บางคนกลับมาเปิดร้านแต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อร่อย จนบางทีก็นึกสงสัยอยู่ว่าลิ้นของเราจะไร้การศึกษาหรือเปล่า
ผมชอบทำอาหารอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ชอบทำตามสูตร ตำราอาหารบอกให้ทำอย่างไร เป็นต้องพยายามเฉไฉไปทำอย่างที่ตำราไม่ได้บอกเสียทุกที บางครั้งก็นั่งนึกขึ้นมาเองว่า คนสมัยโบราณเขาทำขนมปังกันอย่างไรโดยไม่มีตำรา ว่าแล้วก็ไปซื้อแป้งมาขยำกับน้ำ ใส่ยีสต์ลงไปพอทำเนา แล้วก็ปั้นเป็นก้อนเอาเข้าไปอบ ออกมาเป็นขนมปังแข็งโป๊กบ้าง นุ่มอร่อยบ้าง แล้วแต่อารมณ์ของการนวดและส่วนผสมที่ไม่เคยเหมือนกันเลยสักครั้งเดียว
ถ้าออกมาดี ก็จะชมเชยตัวเอง แต่ถ้าออกมาไม่ดี ก็จะพานคิดไปว่า ท่าทางส่วนผสมคงไม่ดีละมั้ง
แต่คุณแคธลีน (Kathleen Flinn หรือจะเรียกสั้นว่า คุณแคท) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แม้เธอจะมีใจรักการทำอาหาร แต่เธอไม่สะเปะสะปะมั่วไปเรื่อย แถมผมว่าเธอคงทำอาหารได้อร่อยอยู่แล้วแน่ๆ ดังนั้น วันหนึ่งเมื่อเธอต้องตกงานกะทันหันจากงานที่เธอไม่ได้รักชอบอะไร เรียกว่าไปพักร้อนกลับมาปุ๊บก็ตกงานปั๊บ โชคดีที่เธอมีคู่ชีวิตที่ดีคอยสนับสนุน ทำให้เธอใช้เงินเก็บและเงินที่ได้จากการเลิกทำงาน ไปสมัครเรียนทำอาหารที่กอร์ดง เบลอ ในปารีส
แถมไมค์-คู่ชีวิตของเธอยังออกจากงาน บินตามมาอยู่ฝรั่งเศสเพื่อเป็นเพื่อนเธออีกต่างหาก จะหาอะไรเลอเลิศถึงเพียงนี้ได้อีก เพราะงานก็ไม่ต้องทำ (ก็ตกงานแล้วนี่!) แถมยังได้มาเรียนในสิ่งที่รักชอบ แล้วก็มีคนรักมาคอยอยู่เคียงข้างอีกด้วย
แต่กระนั้น การเรียนทำอาหารที่กอร์ดง เบลอ ก็ใช่จะเรียนกันไปอย่างเบลอๆ ไม่ ทุกอย่างต้องเนี้ยบเรียบกริบถูกต้องตามหลักการและหลักสูตร ผู้เขียนจึงต้องฝ่าฟันกับอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายอย่าง แม้กระทั่งถูกปรามาสว่าจะ ‘เสียเวลาเปล่า’ อย่ามารงมาเรียนมันเลย กลับบ้านไปเถิด
แต่นอกจากความยากเย็นเข็ญใจของการเรียนแล้ว ยังมีเรื่องราวดีๆเกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน เพราะครูโหดก็มี ครูใจดีก็มาก แถมครูหล่อ (ชาวฝรั่งเศส) ก็เยอะ และล้วนแล้วแต่เป็นเชฟทั้งสิ้น
อย่างเรื่องราวที่คุณแคทเธอยกมาเป็นชื่อเรื่อง (ภาษาอังกฤษ) นั่น ผมว่ามันเป็นคำพูดที่ ‘คม’ บาดใจจริงๆ ตอนแรกนึกว่าเป็นคำคมจากนักปราชญ์กรีกที่ไหนเสียอีก แต่พออ่านไปๆ ก็พบว่ามันคือ ‘ประสบการณ์ตรง’ ที่เชฟถ่ายทอดให้กับนักเรียนนี่เอง
และประสบการณ์ที่ว่า ก็คือเรื่องของการ ‘หั่นหัวหอม’
เชฟซาวาร์หยิบมีดของเขาโดยจับปลายมีดไว้ในแนวนอน เขาหั่นหอมใหญ่ซึ่งถูกดสับไว้แล้วอย่างเป็นจังหวะเพื่อให้มีขนาดเล็กลงไปอีก
แอล.พี.ยกมือขึ้นถาม “เชฟคะ มีคนบอกไม่ให้เราหั่นหอมแบบนั้น” เธอว่า และแอนน์พยักหน้า เธอจำได้เช่นกัน
เชฟหยุดหั่นหอม จากนั้นก็อธิบายให้แอนน์ฟัง และแอนน์แปลให้เราฟังอีกที
“เชฟบอกว่า ใช่แล้ว ถ้ามีดทื่อ คุณจะต้องกดน้ำหนักมือลงมากที่หัวหอม ทำให้เซลล์ของหอมแตกและมีน้ำมันระเหยออกมา นั่นคือน้ำมันที่ทำให้คุณร้องไห้
“แต่ถ้ามีดคมกริบ คุณก็ไม่จำเป็นต้องกดมีดหนัก และนั่นทำให้น้ำมันระเหยออกมาน้อย” แอนน์แปล
เชฟมองไปรอบๆ เพื่อดูว่านักเรียนพอใจกับคำตอบของเขาหรือเปล่า เขาพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า “ดังนั้น ยิ่งมีดของคุณคมมากเท่าไหร่ คุณก็จะเสียน้ำตาน้อยลงเท่านั้น”
จริงของเชฟ ถ้าเรารู้จัก ‘ตัด’ ให้ขาดโดยใช้มีดคมๆ ได้ เราก็ไม่ต้องเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิต แต่ที่เรามัวแต่ร้องไห้ไม่ยอมหยุดน่ะ เป็นเพราะเรา ‘ตัดไม่เป็น’ ต่างหาก มัวแต่ใช้มีดทื่อๆกันอยู่ได้!
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องเชฟ อาหาร ซูเฟล่ กีบหมู พายชั้น แกะย่าง ถั่วขาว ซุปผัก ซอสมะเขือเทศ ปลากะพงแดง หรืออะไรอื่นๆที่เป็นเรื่องอาหารการกินเท่านั้น เพราะนี่คือ ‘ชีวิตจริง’ ของผู้เขียน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นคนอเมริกัน แต่ไปทำงานอยู่ที่ลอนดอน จากนั้นก็บินมาเรียนต่อที่ปารีส เธอจึงต้องเรียนรู้อะไรมากมาย เพราะไม่ใช่คนฝรั่งเศส ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส จึงย่อมไม่รู้ธรรมเนียมต่างของฝรั่งเศสมากพอ การเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ช่วยให้เราผู้อ่านเข้าใจความเป็นฝรั่งเศสได้โดยไม่ต้องไปฝรั่งเศส เรียกว่าเป็น Armchair Traveler ได้เลยทีเดียว
ที่สำคัญก็คือ ผู้เขียนยังแถมท้ายในแต่ละบทมาให้ด้วยสูตรอาหารต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นของกอร์ดง เบลอ รวมไปถึงสูตรอาหารของแม่เธอที่มิชิแกนสมัยอยู่ในฟาร์ม หรือสูตรอาหารที่เธอดัดแปลงขึ้นมาเอง เช่น เติมนั่นโน่นนี่ลงไปในสูตรดั้งเดิมเพื่อเป็นเกียรติแก่ใครบางคน อะไรทำนองนั้นด้วย
ถึงเป็นเรื่องราวการเรียน แต่เล่าเรื่องได้สนุก ตัดสลับไปมาผสมผสานระหว่างความรู้ที่ได้จากการเรียน และความรู้ที่ได้จากการใช้ชีวิต (ร่วมกับแฟนหนุ่ม) ทำให้เราตื่นเต้นไปกับการสอบปลายภาค และการทดลองทำอาหารใหม่ๆ รวมไปถึงการได้ออกไปท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุด ก็คือ…การแต่งงาน!
เอาละ เพื่อไม่ให้เกิดอาการตาร้อนมากไปกว่านี้ ลองอ่านดูเอาเองก็แล้วกันครับ
หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นไทย (นาน) แล้ว ชื่อไทยคือ ‘ตามล่าคว้าฝันที่ เลอ กอร์ดง เบลอ’ ผู้เขียนคือ Kathleen Flinn แปลโดย วิสาสินี เดอเบส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ราคา 280 บาท