ทำไมการเล่นเกมถึงสำคัญต่อ ‘เด็กสมัยนี้’

คุณเคยเห็นพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกอ่านหนังสือหรือเปล่าครับ

สมัยก่อนโน้น การอ่านหนังสือเป็นเรื่องไม่ค่อยดีนะครับ โดยเฉพาะหนังสือนิยายทั้งหลาย เพราะพวกผู้ใหญ่ชอบเห็นว่านั่นคือ-เรื่องประโลมโลกย์ อ่านไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่เป็น ‘ประโยชน์’ กว่ามาก คือการลุกขึ้นมาทำงานบ้าน พับถุงขาย ตัดต้นไม้ พับใบตองเป็นกระทง หรือไปฆ่าไก่เอามาแกง

ในยุคหนึ่ง หนังสือคือสัญลักษณ์ของอำนาจที่สงวนไว้สำหรับคนบางชนชั้นเท่านั้น หนังสือจำพวกความรู้ทั้งหลายแหล่ อ่านไปก็เท่านั้น เพราะเมื่อถูกจำกัดอยู่ในชนชั้นหนึ่งที่ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก โงหัวขึ้นไปมีอำนาจใดๆได้ การอ่านหนังสือจำพวกความรู้ก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น

ก็จะรู้กฎหมายตราสามดวงไปเพื่ออะไรเล่า ในเมื่อที่สุดแล้วการตัดสินพิพากษาต่างๆล้วนเป็นไปตามกลไกของผู้มีอำนาจและวงสังคมยุคนั้น แทบไม่มีการซักค้าน และคนที่ถูกตัดสินก็แทบไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้ สังคมเป็นแบบนั้น ความรู้ในเรื่องทำนองนี้จึงเป็นเรื่องไม่จำเป็น

ความรู้ที่จำเป็นกว่าก็คือความรู้เกี่ยวกับ ‘ทักษะ’ ในการใช้ชีวิต เช่นการฆ่าไก่ตัดกล้วยอะไรทำนองนั้น

ในยุคถัดมา พอมีเรื่องทำนองนิยายหรือการ์ตูนเล่มละบาทออกมา ผู้ใหญ่ของยุคนั้นจึงยิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ พาคนอ่านออกไปนอกโลกแห่งความจริง โลกแห่งการฝึกทักษะเพื่อเอาตัวรอด มัวแต่นั่งอ่านหนังสือพวกนั้นอยู่ ที่สุดก็จะไม่มีจะกิน

แต่ในที่สุด วิธีมองการอ่านก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราต้องพยายามรณรงค์ให้คนหันมาอ่านหนังสือกันให้มากๆ หนังสืออะไรก็อ่านไปเถอะ-พ่อแม่บางคนบอกลูกอย่างนั้น แค่ไม่ใช่หนังสือโป๊หรือหนังสือที่เต็มไปด้วยความรุนแรงก็พอแล้ว

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะในโลกยุคใหม่ คนเราต้องการ ‘ทักษะ’ ในการใช้ชีวิตต่างออกไป การตัดกล้วยฆ่าไก่พับกระทงเย็บใบตองอะไรพวกนั้น กลายเป็นทักษะที่ไม่จำเป็นมากนักในชีวิต (เพราะมีคนอื่นทำหน้าที่พวกนี้แทน) ทักษะที่จำเป็นมากกว่าคือการรอบรู้เรื่อง ‘ความรู้รอบตัว’ (ที่สมัยหนึ่งเคยเป็นแค่วิชาไม้ประดับ) ตั้งแต่รู้ข่าวดาราไปจนถึงข่าวการเมืองฝรั่งเศส และการอ่านแบบกวาดกว้างก็ตอบสนองเรื่องพวกนี้ได้ดี คนที่ ‘อ่านมาก’ เลยกลายเป็นคนที่ได้เปรียบ พ่อแม่ผู้ใหญ่จึงเปลี่ยนมุมมองต่อการ ‘อ่านหนังสือ’ ไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม

มายุคใหม่นี้ เรายังเห็นพ่อแม่บางคนห้ามลูกเล่นไอแพด จำกัดเวลาเข้าอินเตอร์เน็ต กันอยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงไปเยอะ เพราะที่จริงแล้ว การเล่นของอะไรพวกนี้ไม่ใช่แค่การเล่น แต่มันคือการ ‘ฝึกทักษะ’ ที่ทำให้เด็กได้ ‘เห็น’ ถึง ‘โลกกว้าง’ ในแบบที่ชีวิตประจำวันดาษๆรอบตัว (โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ไม่ได้มีสาธารณูปโภคทางปัญญาอะไรนำเสนอให้เด็กมากมายนัก) ไม่สามารถให้ได้

พ่อแม่จำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่า การที่ลูกเข้าไปขลุกอยู่ใน ‘โลกอินเตอร์เน็ต’ หรือ ‘โลกไซเบอร์’ นั้น มันคือการ ‘ฝึกทักษะ’ ใหม่ๆที่โลกกายภาพรอบตัวให้ไม่ได้ เช่น การได้เห็น visualization ในการจัดการข้อมูลแบบใหม่ๆ การได้เห็นความคิดแปลกๆของคนอีกซีกโลกหนึ่ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วน ‘เป็นประโยชน์’ แบบเดียวกับการฝึกทักษะฆ่าไก่ตัดกล้วย หรือการอ่านหนังสือในยุคหนึ่งทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงเรื่องของ ‘เกม’ ปรากฏว่าพ่อแม่อีกจำนวนมากยังคงเห็นว่า ‘เกม’ เป็นของเลวร้าย มอมเมา เป็น Escapism หรือความเพ้อเจ้อเพ้อฝันเพื่อ ‘หนี’ ออกไปจากโลกจริงรอบตัว แบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่ยุคหนึ่งเคยมองการอ่านหนังสือ

แต่ในโลกปัจจุบัน เกมไม่ใช่แค่เกม คนที่ไม่เคยเล่นเกม (คอมพิวเตอร์) เลย กับคนที่ได้ฝึกทักษะในการเล่นเกมนั้นมีวิธีมองโลกแตกต่างกันมาก

และต่อให้เล่นเกมเหมือนกัน แต่คนที่เล่นเกมแบบออฟไลน์ (คือเล่นคนเดียว) กับคนที่เล่นเกมออนไลน์ (คือมีชุมชนคนเล่นเกมเป็นฐานอยู่ด้านหลัง) ก็ได้ฝึกทักษะที่แตกต่างกันด้วย

การเล่นเกมก็เหมือนการอ่านหนังสือหรือการฝึกฆ่าไก่ตัดกล้วย มันคือ input แบบหนึ่ง คือการฝึกทักษะแบบหนึ่ง คือการฝึกวิธีคิดแบบหนึ่ง ที่เหมาะสมกับยุคสมัยหนึ่งๆ

ไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้ พ่อแม่ที่ห้ามลูกเล่นเกม อาจแลดูแปลกประหลาดเหมือนพ่อแม่ห้ามลูกอ่านหนังสือในสมัยก่อนก็เป็นได้