ดราม่ามะม่วง

วันก่อนกินข้าวเหนียวมะม่วงที่โฆษณาว่าใช้มะม่วงน้ำดอกไม้ เลยทำให้นึกถึง ‘ดราม่า’ เรื่องมะม่วงที่เกิดขึ้นแทบทุกปี

ดราม่าที่ว่าก็คือ มีผู้ให้ความเห็นว่า มะม่วงที่ดีที่สุดที่จะใช้กินกับข้าวเหนียว ก็คือมะม่วงอกร่อง ซึ่งหากพูดแค่นี้ก็จะเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใครๆก็สามารถแสดงความเห็นได้ว่ามะม่วงอะไรอร่อยที่สุดในความคิดของคนคนนั้น-ซึ่งพูดได้ว่าเป็นเรื่องอัตวิสัย

แต่ผู้พูดยังอธิบายต่อไปอีกว่า คนสมัยใหม่นั้นไม่รู้ว่าอะไรดีชั่ว ไม่เหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายาย ที่จะต้องกินข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงอกร่องเท่านั้น แต่คนสมัยใหม่กินแต่กับมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งแม้จะผิวสวยเรียบ เนื้อมาก แต่ไม่หอม และความหวานก็ไม่หวานมีเสน่ห์

ข้อสรุปของความคิดเห็นนี้ก็คือ คนรุ่นใหม่กินข้าวเหนียวมะม่วงด้วยมะม่วงน้ำดอกไม้ – จนคิดว่านี่คือสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’

แม้ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่นัยของประโยคนี้ก็คือ การกินมะม่วงน้ำดอกไม้กับข้าวเหนียวมูนเป็นสิ่งที่ผิด เพราะทำให้เสีย ‘วัฒนธรรมการกิน’ แต่ด้ังเดิมไป

คำถามของผมที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วก็คือ ‘วัฒนธรรมการกิน’ แบบไทยๆนั้น มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความถูกต้อง’ แบบที่ชี้นิ้วบอกได้ว่า-นั่นถูก และนี่ผิด, ด้วยหรือ

เรื่องของการกินนั้น ถึงที่สุดก็เป็นเรื่อง ‘อัตวิสัย’ ไม่ใช่หรือ เราสามารถเอา ‘รสนิยม’ ในการกินของเราไปทาบเทียบและตัดสินรสนิยมการกินของคนอื่นได้ด้วยหรือ

คนบรุคลินกินแพนเค้กกับไก่ทอดราดน้ำเชื่อม, คนสก็อตแลนด์กินกระเพาะแกะยัดไส้ด้วยเศษเครื่องในเหลือๆแล้วเรียกว่าแฮกกิส, คนไอซ์แลนด์กินหัวแกะหัวแพะ, คนเหนือกินแอบลูกอ๊อด และอีกสารพัดอย่างที่มนุษย์จะกิน เป็นการกินที่แปรผันไปตามภูมิศาสตร์และสิ่งของที่หาได้ในยุคสมัยหนึ่งๆ

เราบอกได้หรือว่า-คนนั้นกินผิด คนนี้กินถูก

เราบอกได้หรือว่า-กินแบบนั้นรสนิยมดีกว่า กินแบบนี้รสนิยมต่ำ

ยิ่งการเอาวัฒนธรรมการกินไปผูกกับลัทธิชาตินิยมและนิยมวันเก่า (Good Old Days) ด้วยแล้ว ยิ่งชวนให้ตั้งข้อสงสัยต่อเนื่องว่า-ความเป็นไทยในแบบที่ต้องกิน ‘เฉพาะ’ มะม่วงอกร่องกับข้าวเหนียวมูน, คืออะไรส

สองปีที่แล้ว ดราม่านี้ร้อนแรงมากราวกับจะเป็นจะตายกันไปข้างหนึ่ง แต่พอมาปีนี้ ปัญหาที่ว่า มะม่วงอะไรต้องกินกับข้าวเหนียวมูนดูจะเงียบกริบไปเลย เลยชวนให้สงสัยว่า ที่เดือดร้อนจะเป็นจะตายกันเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้มันหายไปไหนเสีย ถ้ามัน ‘จะเป็นจะตาย’ จริงๆ มันจะต้องเป็นประเด็นที่ recurring หรือเกิดซ้ำขึ้นมาใหม่เสมอไม่ใช่หรือ

หรือว่าเอาเข้าจริง ‘ความเป็นไทย’ ที่แท้ ก็คือการเถียงแล้วลืม-ลืมแล้วเถียงใหม่ ไม่ต้องจดจำ argument อะไร, กันแน่