ทำงานกับเอกชน (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำพวก startup) ทุกอย่างดูง่ายไปหมด ทั้งติดต่อ ส่งงาน จ่ายเงิน รับเงิน ไม่มีอะไรเป็นพิธีกรรมรุงรังเลย แค่ส่งเมลสองสามทีก็เรียบร้อยแล้ว (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเอกชนทั้งหมดจะเป็นแบบนี้)
ทำให้นึกถึงการทำงานกับหน่วยงานราชการ ที่มักจะเป็นอีกแบบ คือเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ดูแล้วรู้เลยว่าออกแบบมาเพื่ออ้างการตรวจสอบแต่เอื้อให้ไม่เกิดการตรวจสอบอย่างที่สุด เพราะงุนงง ซับซ้อน สติปัญญาต้องใช้ไปกับขั้นตอนกระบวนการที่วางหมากไว้หลายชั้นยิ่งกว่าเล่นหมากรุกกับอัลฟาโก จนไม่เหลือสติปัญญาและอารมณ์เอาไว้ทำงาน
ที่แย่กว่านั้นคือ หลายครั้งขั้นตอนที่ซับซ้อนทำให้เกิดปัญหา technicality แบบประหลาดๆ จนที่สุดก็ผลักคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเทา เพื่อหาทางทำงานให้ลุล่วงได้โดยต้องบิดข้อบังคับหยุมหยิมต่างๆ บ่อยครั้งกับบางงานจึงมีแต่คนที่พร้อม corrupt เท่านั้นที่จะทำ
ระบบราชการที่คิดว่าออกแบบมาป้องกันการทุจริตจึงคล้ายๆคนสร้างบ้านป้องกันโจรด้วยการสร้างประตูหน้าไว้ยี่สิบชั้น ติดล็อกแน่นหนาเข้ารหัสซับซ้อนดูขึงขัง แล้วเก็บเพชรไว้ในห้องด้านหลังสุด โดยลืมไปว่า (หรือไม่ก็จงใจ) โจรสามารถเปิดประตูหลังกริ๊กเดียวเข้ามาได้ง่ายมาก และโจรที่ฉลาดก็ล้วนแต่เข้าทางประตูหลังทั้งนั้น
ระบบแบบนี้จึงอ่อนแอ เปราะบาง ขึงขังเฉพาะกับคนด้อยอำนาจ แต่ใครหาช่องทางประตูหลังเจอ (ซึ่งก็มักเป็นคนที่มีเส้นสนกลในในทางอำนาจ) ระบบนี้มักศิโรราบค้อมหัวกุมเป้าให้ เป็นระบบที่ผลาญทรัพยากรกับเวลาในการทำงานไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ดูแลรักษาลำดับชั้นทางอำนาจ แถมยังป้องกันทุจริตได้ยากด้วย แทบทุกครั้งที่ติดต่อกับหน่วยงานราชการจึงรู้สึกตลกกับความรุ่มร่ามล้าสมัยเหล่านี้เสมอ
ป.ล. อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นเรื่องง่ายที่จะปฏิรูประบบราชการ เพราะทุกวันนี้ สำนึกของความเป็นรัฐราชการนั้นเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นข้าราชการระดับสูงออกมาปกป้องลูกน้องในหลายเรื่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน