หนึ่งในหนังสือที่ไม่เคยคลายจากความเยาว์วัย คือหนังสือชื่อ ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเล็กๆของเด็กผู้ชายคนหนึ่งจากทุ่งกว้าง ที่ถูกเมืองใหญ่ยุดยื้อให้ต้องจากบ้านเข้าสู่เมือง-ในนามของการศึกษา
นี่คือหนังสือของ พิบูลศักดิ์ ละครพล นักเขียนที่ตัวอักษรของเขาอ่อนหวานนักหนา
ฤดูร้อนจะจากไปไม่นานแล้ว มันเป็นเวลาที่มาวิรู้สึกเปล่าเปลี่ยวและไม่สบายใจเลยเมื่อคิดถึงมัน…ใบไม้เปลี่ยนสีเกือบหมดป่าแล้ว ทั้งวันมาวิจะได้แต่ตุหรัดตุเหร่ไปกับมัน เกลือกกลิ้งกับทุ่งหญ้าตามเชิงเขา และเฝ้ารอยคอยอย่างเบื่อหน่าย (หน้า 27)
มาวิเป็น ‘เด็กในดง’ ที่ถูกเสียงเพรียกแห่งการศึกษารั้งตัวเขาเข้าเมือง เขาตามมันไปชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะรู้ว่าตนเองต้องการอะไร และมันช่างเศร้า ที่เรารู้จักตัวเอง เพราะใครๆก็คิดว่า สิ่งที่ดีกว่าสำหรับชีวิตล้วนรั้งรออยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ในฐานะร่ำรวย อยู่ในการเป็นเจ้าคนนายคน
แต่มาวิไม่คิดอย่างนั้น เขารู้ว่าเมืองนำอะไรมาให้บ้าง
“อ่านดูซิ…นี่ติดมาจากร้านยาในเมือง”
มาวิตั้งต้นอ่านชัดถ้อยชัดคำอีกครั้ง
“ยาอันตราย…รับประทานครั้งละหนึ่งเม็ด สามเวลา หลังอาหาร” (หน้า 163)
หนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนเล่มนี้วิพากษ์ความเจริญของเมืองไปพร้อมๆกับการศึกษา ซึ่งนั่นนับว่ากล้าหาญ แต่ยิ่งกว่านั้น ก็คือความซื่อสัตย์ต่อหัวใจของตัวเอง ที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งแสดงให้เราเห็นผ่านตัวอักษรอันอ่อนหวานในหนังสือเล่มนี้
“ดูสิ…ดูนัยน์ตาดำขลับของเขา…มันมีแต่นิยายของสายรุ้งและดวงดาว เขาเขียนรูปได้เร็วและมั่นใจ…ผมไม่แปลกใจเลย…ผมคิดว่าเขาทำถูกแล้ว นกทุกตัวควรโบกบินอยู่ในท้องฟ้ากว้าง มากกว่าที่จะถูกกักขังอยู่ในกรงสี่เหลี่ยม” (หน้า 162)
เมื่ออ่าน ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ อีกครั้งหนึ่ง ผมพบว่า หนังสือเล่มนี้มีอะไรมากกว่าความอ่อนหวานมากนัก