สภาวะไร้น้ำหมึก

 

ผมมักจะเขียนอะไรต่อมิอะไรได้-เมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่น่าเขียน

ผมเขียนกลอนแปด กลอนเจ็ด กลอนสักวา ตอนนั่งเรียนฟิสิกส์ และขณะพยายามทำความเข้าใจกับแคลคูลัส

กลอนแปดบางบทตีพิมพ์ในสตรีสาร กลอนสักวามีเพื่อนนักศึกษาเอาไปท่องเล่นกันสนุก

การนั่งเขียนอะไรต่อมิอะไรในชั้นเรียนทำให้ผลการเรียนวิชาฟิสิกส์และแคลคูลัสของผมออกมาดีครับ ดีอย่างยิ่ง เพราะดีทั้งสองวิชา-เกรดดี! ต้องรีเกรด

แต่ผมมีความสุขกับมัน

ผมรู้สึกว่า ความมุ่งมั่นที่จะทำอะไรต่อมิอะไรของคนเรา ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการถูกกดทับไม่ให้ทำ เมื่อไม่มีเวลา เราจึงมักคิดออก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด เราจึงจะรู้…ว่าที่แท้เรา ‘ต้อง’ ทำอะไร

เมล็ดพืชที่ร่วงลงไม่ถึงพื้นย่อมไม่งอก

ที่จริงผมลืมไปเกือบหมดแล้ว ว่าตัวเองเคย ‘เกเร’ ไม่ยอมท่องสูตรแคลคูลัส แต่ดันนั่งเขียนกลอน และเกือบลืมไปแล้วว่าเคยโดดแล็ปเพาะเชื้อแบคทีเรียมานั่งเขียนเรื่องสั้น เพราะทุกวันนี้ผมได้เขียนมากจนเกินพอ และเขียนได้ตลอดเวลาอย่างที่ตัวเองก็นึกไม่ถึง

ผมลืมเลือนไปแล้วว่า สภาวะที่ละม้ายถูกบังคับไม่ให้เขียนนั้นเป็นอย่างไร สภาวะที่ต้องทำอย่างอื่นจน ‘ไม่มีเวลาเขียนหนังสือ’ นั้น หายไปจากชีวิตผมเกือบสิบปีแล้ว

และผมไม่รู้เลยว่านั่นสุขหรือเศร้า

กระทั่งวันหนึ่ง…

วันนั้นผมแอบย่องไปนั่งเรียนในคลาสของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ต้องเรียกว่าแอบเข้าไปฟังจริงๆครับ เพราะสถานภาพนักศึกษาได้ลาจากผมไปหลายปีแล้ว

คลาสวันนั้นไม่สนุกอย่างที่คิด (คำว่า ‘สนุก’ มีหลายความหมายนะครับ สนุกของผมอาจไม่เหมือนสนุกของคุณ) ปกติถ้าไม่สนุก ผมสามารถเดินออกไปจากห้องเรียนได้ทุกเมื่อ ก็ไม่ใช่นักศึกษานี่ครับ จะทนนั่งฟังไปทำไม แต่คลาสวันนั้นไม่เหมือนคลาสอื่น เพราะจัดในห้องที่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว และประตูก็อยู่ด้านหน้าห้อง ใกล้กับคนสอนเสียด้วย อีกทั้งเก้าอี้ก็ตั้งอยู่เต็มห้อง ถ้าเดินออกไป ผมต้องเลื่อนเก้าอี้หลายตัว อันจะทำให้เกิดเสียงดัง และทุกคนก็จะต้องหันมาจดจำหน้าของผู้ชายคนนี้ไว้

ผมขี้อายครับ จึงได้แต่นั่งทนฟังสิ่งที่ไม่สนุกอยู่อย่างนั้น

และอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมมองปากคนพูดที่หน้าชั้น มันขยับเร็วๆคล้ายกับพยายามจะบอกอะไรให้เราฟัง แต่เมื่อหัวใจไม่อยากฟังเสียแล้ว สมองก็พานฟังไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย

ผมจึงกลายเป็นเด็กเกเรอีกครั้ง

มือควานลงในกระเป๋า หยิบสมุดบันทึกปกสีแดงเล่มเล็กขึ้นมาวางบนโต๊ะ อีกข้างจับปากกาสีดำจรดลงไป

เรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งกับปีศาจในดินแดนห่างไกลกินเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืนพรั่งพรูลงไปในสมุดเล่มนั้น

ผมเขียน เขียน และเขียน คล้ายกับไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลยในชีวิต

ผมมีความสุขกับมันนัก

เวลานั้น ผมอดนึกถึงศาสตราจารย์ เจมส์ เมอร์เรย์ ไม่ได้ เขาเป็นหนึ่งในผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซ์ฟอร์ดที่เรียกได้ว่าเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตคนสำคัญคนหนึ่งของอังกฤษ

เมอร์เรย์เป็นเด็กยากจน เขาต้องเลิกเรียนหนังสือตั้งแต่อายุสิบสี่ปีแบบเดียวกับเด็กอังกฤษยากจนในเกาะอังกฤษยุคปี 1851 ทั่วไป ที่จริงเมอร์เรย์ไม่อยากเลิกเรียน ถึงไม่มีเงิน เขาก็พยายามขวนขวายทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ตั้งแต่พยายามไปขุดค้นแหล่งโบราณคดี เรียนภาษาละตินถึงขั้นพยายามสอนวัวให้ฟังคำสั่งภาษาละตินให้ออก อ่านหนังสือวิชาการโดยใช้ตะเกียง แปลหนังสือภาษาฝรั่งเศสเป็นเล่มๆให้คนในครอบครัวอ่าน และพยายามเป็นนักประดิษฐ์แบบลีโอนาร์โด ดาวินชี โดยประดิษฐ์เครื่องมือช่วยว่ายน้ำ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

เมอร์เรย์เป็นปราชญ์ได้ก็เพราะความ ‘ขาดแคลน’ ของเขานั่นเอง

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เพื่อนร่วมงานของผมเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ในรถโคชของนักฟุตบอลทีมชาติทีมหนึ่งที่ออกจากสนามกีฬาหัวหมากไปยังสนามศุภฯ นักบอลทีมชาติเหล่านั้น เมื่อมองออกมานอกหน้าต่างรถ และเห็นเด็กๆกำลังเตะบอลเล่นกันอย่างเมามันในสนามเล็ก พวกเขาปรารภแก่กันว่าเด็กพวกนี้ช่างขยันซ้อมเสียนี่กระไร น่าจะเปลี่ยนให้มาซ้อมแทนพวกตนเสียหน่อย เพราะพวกตนน่ะ ขี้เกียจซ้อม!

ผมฟังแล้วนึกถึงตัวเองและเมอร์เรย์ขึ้นมาตะหงิดๆ

เป้าหมายในฝันของเด็กๆในสนามที่ไม่เคยได้โอกาสไปให้ถึงทีมชาติ ก็คือการได้เป็นทีมชาติ

เป้าหมายของเด็กอีกคนหนึ่งที่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุสิบสี่ ก็คือการทุ่มเทชีวิตให้การจัดทำพจนานุกรม

แต่เมื่อได้เป็นทีมชาติแล้ว พวกเขาอาจเบื่อการซ้อม

และเมื่อได้เป็นศาสตราจารย์แล้ว อาจมีบางเวลาที่เมอร์เรย์เบื่อหน่ายการทุ่มเถียงบางถ้อยคำกับราชบัณฑิตอื่น

ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาอยากทำตลอดมาก็คือเตะบอลและวิเคราะห์ภาษา

เมื่อน้ำมากเกินไป เมล็ดพืชย่อมหางอกไม่

ผมชอบนัก ที่ได้เห็นผู้คนลุกขึ้นมานิยมทำหนังสือทำมือผลัดกันอ่านอย่างคึกคัก ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ผมนึกนิยมเพราะผมไม่เคยคิดทำหนังสือทำมือเลย ผมรู้ตัวดีว่า มือของผมไร้ฝีมือในการประกอบเล่ม สมองของผมก็เป็นเขตปลอดไอเดียของการคิดรูปแบบ

ผมรักเพียงการเขียน-แม้บางสภาวะที่เอื้อต่อการเขียนเหลือเกินจะทำให้ผมไม่อยากเขียน และอีกหลายสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการเขียนเลย จะทำให้ผมอยากเขียนอย่างยิ่ง, และมีความสุขอย่างยิ่งต่อการเขียนก็ตาม

ผมเพียงหวัง-ว่าสภาวะที่เอื้อต่อการทำหนังสือทำมืออย่างยิ่ง จะไม่ก่อให้เกิดภาวะแย้งขึ้นในใจของนักทำหนังสือทำมือทั้งหลาย

เหมือนสภาวะไร้น้ำหมึกที่เกิดขึ้นกับผม…เป็นบางคราว

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s