วันอาทิตย์และพื้นที่สาธารณะ

 

1

ผมเคยคิดว่า บรรยากาศเริงรื่นในสวนสาธารณะแบบนั้นไม่มีอยู่จริงในเมืองไทย

ผมหมายถึงบรรยากาศอย่างที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดของจอร์จ ปิแอร์ ซูราต์ (George-Pierre Seurat) ภาพนั้น

ที่จริงแล้ว ภาพนั้นมีชื่อว่า A Sunday Afternoon on the Island of La GRande Jatte หรือบ่ายวันอาทิตย์บนเกาะลากรองด์ยาตต์ มันเป็นภาพที่วาดด้วยการประจุด อย่างที่เรียกในแวดวงศิลปะว่า Pointilism กล่าวคือ ศิลปินจะใช้วิธีแต้มปลายพู่กันลงไปทีละจุด…ทีละจุด

ภาพนั้นเป็นภาพของสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ผู้คนพากันมาพักผ่อนในสวน เป็นยามบ่ายที่แสงแดดยังเริงแรง เครื่องแต่งกายตามยุคสมัยของผู้หญิงนั้นแม้แลดูโบราณ ทว่ากลับผ่อนคลายอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะเมื่อคละเคล้ากันอย่างเห็นได้ชัดถึงผู้คนหลากชนชั้น ทั้งหญิงผู้ดีถือร่มสวย ควงคู่มากับชายหนุ่มไว้หนวดในหมวกทรงสูง หรือผู้ชายใส่เสื้อแขนกุด ที่เห็นได้ว่าเป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่นับรวมสรรพสัตว์ที่กำลังวิ่งเริงร่า ทหารที่ถือโอกาสออกมาเดินเล่นผ่อนคลาย ผู้คนที่ออกมาเล่นเรือใบ นักกีฬาพายเรือที่กำลังฝึกซ้อม เด็กผู้หญิง หญิงชรา เรื่องซุบซิบนินทา งานอดิเรก อากาศแสนแจ่มใส ใบไม้สีเขียว ผู้หญิงที่กำลังตกปลา และผู้ชายที่กำลังคุยโม้โอ้อวด

 

Sunday-in-the-Park_Blog-640x420

 

มันเป็นภาพของบ่ายอันแจ่มใส แม้แลดูหมองมัวเหมือนมองผ่านม่านน้ำตาด้วยเอฟเฟ็กต์ของ Pointilism ทว่าก็ยังแจ่มใส

แต่กระนั้น, ม่านน้ำตาก็ไม่ใช่ของหลอกลวงแต่ประการใด…

 

2

หลายปีก่อน เมื่อเดินอยู่ที่เลสเตอร์สแควร์ ผมกำลังเลือกดูละครเพลงสักเรื่องก่อนบินกลับเมืองไทย มันเป็นวันเสาร์ และเวลาก็เหลือน้อยเต็มที เพื่อนบางคนชวนดูละครเพลงอลังการอย่าง The Phantom of the Opera ซ้ำอีกรอบ แต่ผมส่ายหน้า แล้วผมก็เลือกเรื่องนี้

Sunday in the Park with George

บางทีอาจเพราะผมรักสุ้มเสียงเชิงพ็อพอันยิ่งใหญ่ตระการตาของท่านเซอร์แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ น้อยกว่าความซับซ้อนแต่เล็กจ้อยของสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ก็เป็นได้

ผมอดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า บางทีซอนด์ไฮม์อาจเห็นเหมือนที่ผมเห็น-ว่าเทคนิค Pointilism ทำให้พร่าเลือนของภาพ หมองจางความแจ่มใสในบรรยากาศบ่ายวันอาทิตย์ของภาพนั้นไปบ้าง

คำถามก็คือ-เพราะอะไร?

ซอนด์ไฮม์จึง ‘สร้าง’ คำตอบขึ้นมา

คำตอบของเขากลายเป็นละครเพลงเรื่องนี้-Sunday in the Park with George เรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลโทนี่ถึงสิบรางวัล ได้รางวัลพูลิตเซอร์ และรางวัลอื่นๆอีกแทบไม่ถ้วนการนับ

และกลายเป็นละครเพลงที่ผมรักที่สุดเรื่องหนึ่งด้วย

ซอนด์ไฮม์ให้ตัวละครจอร์จ ซูราต์ ผูกพันกับนางแบบของเขา คือด็อต (Dot) ลำพังคำว่าด็อตก็มีนัยที่โจ่งแจ้งแสดงถึงเทคนิค Pointilism ด้วยการประให้เป็น ‘จุด’ อยู่แล้ว แต่ซอนด์ไฮม์ยังแสดงอัจฉริยภาพทางดนตรีในเพลง Color & Light ซ้ำอีก ด้วยการ ‘ล้อ’ ภาพขณะด็อตตบแป้งแต่งตัวอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง พลางบ่นว่าจอร์จ และให้จอร์จประจุดวาดภาพของเขาอยู่บนเวทีอีกที่หนึ่งพร้อมกัน พลางพร่ำรำพันถึงองค์ประกอบภาพ สมดุล สมมาตร สีสัน แล้วทั้งคู่ต่างก็พูดเรื่องของตัวเองออกมาพร้อมๆกันเป็นเพลง

ผมจำไม่ได้แล้วว่า นักแสดงในรอบที่ผมไปชมนั้นเป็นใคร แต่เมื่อซื้อดีวีดีกลับมาดูภายหลัง นักแสดงชุดออริจินัลแคสต์คือแมนดี้ พาทินกิน (Mandy Patinkin) กับเบอร์นาแด็ต ปีเตอร์ส (Bernadette Peters) นั้น รับบทได้พอดิบพอดีกับจังหวะมาก ต้องบอกว่า ซอนด์ไฮม์ไม่เคยเขียนดนตรีง่าย เขา ‘วาด’ เสียงของการประจุดให้เราได้ยินออกมาทีละจุดๆต่อเนื่องราวรัวกระสุนทีละนัดๆด้วยอัตราเร็วของปีกนกฮัมมิงเบิร์ดทีละเฟรมๆ นักแสดงต้องตบแป้งทีละผัวะๆ ผงกมือจิ้มพู่กันทีละจุดๆ พร้อมเปล่งเสียงออกมาทีละห้วงๆ โดยใช้พลังจากช่องท้องทีละขยักๆ ให้เสียงพุ่งผ่านจากกล้ามเนื้อท้อง กะบังลม หลอดลมทีละเฮือกๆ พุ่งขึ้นไปสะท้อนก้องอยู่ในโพรงไซนัสตามที่ต่างๆของใบหน้า หน้าผาก และกะโหลกศีรษะทีละห้วงๆ ก่อนปล่อยมันผ่านออกมาในอากาศทีละเสียงๆ ห้วนๆ สั้นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำในเสี้ยววินาที และทำซ้ำๆ ซ้ำๆ และซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อสื่อให้เห็นภาพของการประจุด ตบแป้ง ประจุด ตบแป้ง และประจุด ตบแป้ง สลับกับการพูด ทั้งต้องให้ตรงกันกับจังหวะของวงดนตรีและมือของวาทยากรไม่พลาดเพี้ยนอีกด้วย

เมื่อนั่งอยู่หน้าเวทีในวันนั้น ผมจึงแทบอ้าปากค้าง

นี่ไม่ใช่ละครเพลงที่มีฉากอันอลังการยิ่งใหญ่ ทว่ามีฝีมือการประพันธ์และการแสดงอันยิ่งใหญ่

 

3

เทคนิค Pointilism ทำให้เกิดม่านน้ำตา ก็เพราะจอร์จนั้นลังเลนัก

ด็อตเลือกจะจากเขาไป เธอไม่มีอนาคตร่วมกันกับเขา ด็อตจึงคิดผละจากยุโรปไปอเมริกา และจอร์จก็เลือกจะปล่อยให้เธอไป

เขาอาจวาดภาพชิ้นนั้นต่อจนเสร็จ แต่จะไม่มีข่าวคราวจากในสวนอีก ไม่มีใครนำเสียงซุบซิบนินทาจากในสวนมาบอกเล่าให้เขาฟังอีก ไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีสิ่งที่เขารักโดยไม่รู้ตัวอีกแล้ว

ผมชอบตอนจบของละครเพลงเรื่องนี้มาก มันเหมือนการสำนึกรู้ แต่กระนั้น ทุกสิ่งที่เป็นศิลปะ ก็ยังคงเป็นไปอย่างที่มันเป็น มีความเข้มข้น มีองค์ประกอบภาพ มีสมดุล มีความกลมกลืน มีความรักอันมากล้น และแล้ว ทุกคนก็เคลื่อนเข้ามา พลางเปล่งเสียงร้อง และจัดตนเองให้เข้าสู่ตำแหน่งภาพ เหมือนในภาพนั้น พลางเปล่งเสียงให้ประสาน…

Sunday…

Sunday…

Sunday…

มันดังกึกก้อง

 

4

จอร์จ ซูราต์ บอกไว้เป็นประโยคสุดท้ายว่า ในผืนผ้าใบว่างๆนั้น ช่างมีความเป็นไปได้มากมายเหลือเกิน

ผมก็เชื่ออย่างนั้น เมื่อมองดูผู้คนในสวนรถไฟใกล้ๆบ้านในบ่ายวันอาทิตย์ มันเป็นสวนสีเขียวที่มีผู้คนมากมาย ผมชอบมาที่นี่ ไม่ได้มาขี่จักรยานหรือวิ่ง เพียงมาเดินเล่น รอให้พระอาทิตย์ตก

ผมมักเดินเลยไกลไปในที่ที่ไม่ค่อยมีผู้คน และเสียบหูฟัง เปิดเพลง Sunday ตอนจบขององก์แรกใน Sunday in the Park with George แล้วฟังคำว่า Sunday…Sunday…Sunday ซ้ำๆ

มันเป็นคำที่ไม่อาจมีใครคนใดคนหนึ่งร้องได้ตามลำพัง เพราะสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ได้รังสรรค์ให้คำคำนี้กอปรตนขึ้นมาจากหลากเสียงประสาน อย่างน้อยที่สุด ผมเข้าใจว่ามีไม่ต่ำว่าแปดเสียงที่ทรงพลัง

ทุกเสียงทำหน้าที่ทั้งขัดและประสานกัน เกิดเป็นคอร์ดอันเปี่ยมความหมายและแสนอัศจรรย์ เหมือนการเคลื่อนที่อันแช่มช้าแต่มีพลังงานของพระอาทิตย์ที่ค่อยๆคล้อยดวงเลื่อนไป พลางส่งแสงเฉียงมาเตือนใจเราทุกยามบ่ายให้รู้ว่าไม่มีอะไรหยุดนิ่ง

แน่ละ-กรุงเทพฯ อาจมีสวนสาธารณะใกล้บ้านให้เราไปใกล้ชิดน้อยเต็มที ไม่เหมือนในฝรั่งเศสหรอก แต่หากเราไม่ไปชิดใกล้กับมันเหมือนผู้คนในภาพเขียนของจอร์จ ซูราต์

มันก็อาจไม่มีวันใกล้ชิดกับเราเลยตลอดกาลก็เป็นได้

และบางทีเราก็อาจต้องเสียใจ

มันคล้ายกับว่า เราหลงรักใครบางคนที่อยู่ใกล้ๆ แต่เราไม่เคยรู้ตัวมาก่อนอย่างนั้นเอง