เมืองที่ไม่มีฤดูกาล

นานมาแล้ว เมื่อนั่งรถไฟกลับมาจากภาคเหนืออันไกลโพ้นนั้น สองข้างทางมีแต่น้ำเจิ่งนองทั่วท้องทุ่งไปหมด แง่หนึ่งก็เป็นภาพที่งดงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อดวงตะวันยันกายขึ้นมาจากขอบฟ้า ความมืดค่อยๆถูกแทนที่ด้วยสีฟ้า และเรืองรองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกแง่หนึ่ง นั่นคือความจริงอันโหดร้ายอย่างยิ่ง กับผู้คนในชนบทที่ต้องเผชิญหน้ากับฤดูกาล และสูญเสียมากมาย

เป็นช่วงเวลาอย่างนั้นเอง ที่ผมนึกขึ้นได้ว่า ตัวเองไม่ได้สัมผัสกับ ‘ฤดูกาล’ มานานแล้ว

ชีวิตในกรุงเทพฯ คือชีวิตที่ไม่เคยรู้จักฤดูกาลต่างๆ เราอยู่บนผืนดินราบเรียบที่สงบนิ่ง ไม่มีพลวัตของอากาศ ตลอดทั้งปีดูเหมือนจะมีแต่ฤดูร้อนแทรกสลับกับฝนตก แต่เราก็ไม่ได้ไยดีกับฝนพวกนั้น ค่าที่มันสร้างแต่ความเฉอะแฉะให้กับเรา

คนกรุงเทพฯ ในยุคปัจจุบันไม่เคยสัมผัสกับฤดูกาล เราไม่เคยรู้ว่าความร้อน หนาว ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ ‘วิถีชีวิต’ เปลี่ยนไปนั้นเป็นอย่างไร ตลอดทั้งตาปีตาชาติ เราจึง ‘ย่ำ’ อยู่วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีการ Refresh ตัวเอง

คำว่า ‘คนกรุงเทพฯ’ ในที่นี้ คือ ‘ภาพ’ ของคนกรุงเทพฯ ในความหมายของชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร มีบ้าน มีรถ มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ จึงอยู่ในสภาพของ ‘ไข่ในหิน’ ที่รัฐให้ความดูแลปกป้องเป็นอย่างดีจนบางครั้งก็ทั้งมากเกินไป เกินจริง และเกินควร เพราะคิดไปว่าจะความเสียหายที่เกิดกับคนกลุ่มนี้จะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจมาให้มหาศาล คนกรุงเทพฯ จึงไม่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนัก (ยกเว้นปี 2554) โดยทั่วไป แม้มีอุทกภัยทั่วทุกภาค กรุงเทพฯ ก็จะยังแห้งผาก แม้พี่น้องชาวนาในภาคกลางหรือภาคอื่นๆต้องซบหน้าร่ำไห้เพราะอุทกภัยทำบ้านพังและพรากชีวิตคนที่ตนรักไป แต่คนกรุงเทพฯ ก็จะยังสามารถขับรถไปช็อปปิ้งในห้างและศูนย์การค้าได้เสมอ

บางคนอาจชื่นชอบกับภาวะ ‘ไข่ในหิน’ ของรัฐแบบนี้ เพราะมันทำให้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ (ในความหมายที่ว่ามา) เป็นชีวิตที่สะดวกสบาย เป็นคล้ายดังคำอวยพรของภาษีที่ใช้จ่ายให้กับภาครัฐ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง, นี่เป็นคำสาปด้วย!

เพราะภาวะ ‘ไข่ในหิน’ ของรัฐ ทำให้คนกรุงเทพฯ ได้รับการปกป้องจากพลวัตของฤดูกาลไปด้วย ผลก็คือ คนกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา เราพบตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่ ‘ปรับอากาศ’ ให้เย็นสบายตามสมควร (คืออาจอยู่ที่ 25-27 องศาเซลเซียส ตามการโฆษณาให้ ‘ประหยัดไฟ’ ของหน่วยงานภาครัฐ) จากนั้นก็อาบน้ำที่ ‘อุ่นสบาย’ เท่ากันทุกวันด้วยเครื่องทำน้ำอุ่น กินอาหารที่ปรุงจากเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส ไม่เคยรู้ว่าฟืนที่ชุ่มฝนนั้นเป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็ขับรถที่ปรับอุณหภูมิให้สบายตัวตามต้องการ เดินทางไปทำงานในออฟฟิศตึกสี่เหลี่ยมที่มีการปรับอุณหภูมิเอาไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ส่วนในวันหยุด เราจะยัดตัวเองเข้าไปอยู่ในศูนย์การค้าใหญ่ซึ่งปรับอุณหภูมิให้พ้นจากร้อน-ฝน-หนาวใดๆ แม้แต่เย็นวันทำงาน ถ้าจะนัดเจอเพื่อน เราก็มักนัดกันไปกินข้าวเย็นในศูนย์การค้า เสร็จแล้วเดินช็อปปิ้งอีกนิดหน่อย ก่อนจะไปดูหนังแล้วก็กลับบ้าน

ทั้งหมดนี้คือการ ‘ขัง’ ตัวเองอยู่ใน ‘กรงปรับอากาศ’ ทำให้เราไม่ได้รู้ร้อนหนาวอะไรไปกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมชาติ’ (ซึ่งมีทั้งด้านดีและเลว-เมตตาและฆ่า, อยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า ‘มารดาธรรมชาติ’ ปนกัน) และในด้านหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพร่ำเพ้อเรียกหาธรรมชาติ ชวนกัน ‘ขับรถ’ (ปรับอากาศ) ไปปลูกป่า หรือไปนอนทอดสายตาดูฟ้าดูทะเลตามรีสอร์ต (ปรับอากาศ) อย่างมากก็ออกไปขี่จักรยานกันนิดๆหน่อย แล้วเราก็เรียกกิจกรรมเหล่านั้นว่า การสัมผัสกับธรรมชาติ

จากนั้นก็ ‘กลับเข้ากรง’ มาอยู่ในเมืองที่ไร้ฤดูกาลกันต่อไป

การสัมผัสกับธรรมชาติที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว แถมยังอยู่ในโหมดที่เรียกได้ว่า Fake อีกด้วย เพราะเราไม่ได้อยากสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ เนื่องจากเราถูกทำให้กลายเป็นไข่ในหินมากเสียจนภาวะแบบนั้นได้ ‘หลอมรวม’ (Internalize) เข้ามาเป็นตัวตนหนึ่งของเราไปแล้ว จนทำให้เราไม่อยากออกมาจากหินนั่นอย่างจริงจัง ธรรมชาติที่เราไปสัมผัส จึงเป็นธรรมชาติที่ถูกปรับแต่งมาระดับหนึ่งแล้วให้พ้นไกลไปจากธรรมชาติ

แน่นอน ในอีกด้านหนึ่ง การต้องคอยหลบออกจากมาหินก็ทำให้เห็นว่าลึกๆแล้วเรายังมีความต้องการธรรมชาติอยู่จริง เพียงแต่ชีวิตแบบที่ถูกขังอยู่ในหิน ทำให้เราไม่มีโอกาสได้แสวงหาความต้องการนั้นอย่างจริงจังเท่านั้น

และหลักฐานยืนยันว่า วิถีชีวิตแบบ ‘ไข่ในหิน’ ของรัฐทำให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตอย่างไร้ฤดูกาลนั้น สำหรับผมแล้วคือ ‘เทศกาล’ ต่างๆที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เราจะเห็นว่านอกจากลอยกระทงกับสงกรานต์แล้ว ไม่มีเทศกาลสำคัญๆเทศกาลไหนเลยที่สัมพันธ์กับ ‘ฤดูกาล’ อย่างแท้จริง แต่กระนั้น แม้แต่ลอยกระทงกับสงกรานต์ก็ได้สูญเสียความหมายที่สอดคล้องกับฤดูกาลไปมากทีเดียว

img_2485.jpg

 

ลอยกระทงเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลาก แต่กรุงเทพฯมีน้ำหลากไหม เราปล่อยให้น้ำไป ‘ท่วม’ การเกษตรเชิงเดี่ยวในที่อื่นๆหมด แต่กรุงเทพฯไม่ได้สัมผัสกับน้ำท่วมเลย สงกรานต์ก็เช่นกัน การเล่นน้ำต้องเกิดขึ้นเพราะความร้อนของอากาศ แต่ในเมืองที่ผู้คนห่มเฟอร์และใส่ผ้าพันคออยู่ในออฟฟิศทั้งตาปีตาชาติ สงกรานต์ก็ไม่สลักสำคัญอะไรกับชีวิตคนจริงๆอีกต่อไป

นอกเหนือไปจากสองเทศกาลนี้ เราไม่มีเทศกาลอื่นอีกที่สะท้อนถึงความผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่มีเทศกาลชมดอกไม้บานที่สะพรั่งไปทั่วกรุงเทพฯในฤดูร้อน ไม่มีเทศกาลชมสายฝน ไม่มีเทศกาลจับแมงมัน ฯลฯ มีแต่เทศกาลขายเสื้อผ้าส่งออกราคาถูก ขายหนังสือที่ไม่ได้มีเอาไว้อ่าน เทศกาลแฟชั่นปลอมๆ เทศกาลขายของอย่างนาฬิกา รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ หรือเทศกาลกินของจากต่างประเทศ ซึ่งอย่างหลังนี้น่าขันที่มักเกี่ยวพันกับฤดูกาลของต่างแดน เช่น เทศกาลอาหารจากซากุระ เทศกาลอาหารจากปลาแซลมอนที่จับได้ในฤดูหนาว แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฤดูกาลของเราเองเลย นั่นเป็นเพราะเราได้ Urbanize กรุงเทพฯ จนกลายสภาพมาเป็น ‘ไข่ในหิน’ และสูญเสียสัมผัสระหว่างตัวเรากับโลกภายนอกไปเกือบหมดแล้ว

และนี่แหละ, คือคำสาป!

อย่าพยายามอธิบายว่าเพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ และนี่คือวิถีชีวิตของเมืองใหญ่นะครับ เพราะหากเราดูเมืองใหญ่อื่นๆ เช่นโตเกียว, นิวยอร์ค, ลอนดอน, ปารีส เราจะพบ ‘เทศกาล’ ที่สัมพันธ์กับฤดูกาลอย่างลึกซึ้งเต็มไปหมด จริงอยู่ที่เมืองเหล่านี้อยู่ในซีกโลกเหนือซึ่งอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและเห็นได้ชัด ฤดูร้อนจึงมีเทศกาลกลางแจ้ง ฤดูหนาวจึงมีเทศกาลที่เกี่ยวกับหิมะ และฤดูใบไม้ผลิจึงมีเทศกาลที่เกี่ยวกับดอกไม้ แต่ถ้าผู้คนไม่ ‘ใส่ใจ’ กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล จะเกิดเทศกาลเหล่านี้ขึ้นได้หรือ

เทศกาลที่แสดงอำนาจของฤดูกาลคือการ ‘เตือน’ มนุษย์ว่า เวลาได้หมุนเวียนไปอีกช่วงหนึ่งแล้ว และแต่ละช่วงเวลา เราต้องตระเตรียมตัวอย่างไรบ้าง สัตว์หลายชนิดได้ร่าเริงในฤดูร้อน สะสมในฤดูใบไม้ร่วง เก็บตัวในฤดูหนาว และเกิดใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนการ Rejuvenating ชีวิต และเป็นชีวิตซึ่งตระหนักถึงวัฏสงสารของธรรมชาตินั่นเอง

แต่กรุงเทพฯ ไม่มีสิ่งนี้-และไม่มีโดยความตั้งใจเสียด้วย!

นิวยอร์คไม่ได้ปฏิเสธหิมะ แต่กรุงเทพฯปฏิเสธฤดูน้ำหลาก, โตเกียวไม่ได้ปฏิเสธดอกซากุระบาน กรุงเทพฯก็ไม่ได้ปฏิเสธดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ เราเพียงแต่ไม่ใส่ใจกับกลีบบางของมัน, ลอนดอนไม่ได้ปฏิเสธความร้อนในฤดูร้อน แต่ออกมาทำเทศกาลละครกลางแจ้ง กรุงเทพฯปฏิเสธจะรับรู้ความร้อน และอยู่แต่ในอากาศเทียมที่ได้รับการ ‘ปรับ’ แล้วตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ เราจึง ‘ไม่รู้ร้อนรู้หนาว’ และไม่มีโอกาสได้ Rejuvenate ชีวิตตัวเองในรอบปี เราจึงใช้ชีวิตย่ำไปมาอยู่เหมือนเดิมทั้งตาปีตาชาติ อาการ ‘ไม่รู้ร้อนรู้หนาว’ ของการเป็นไข่ในหินนี้ พลอยทำให้เราหมดความสามารถในการ ‘รู้ร้อนรู้หนาว’ ชีวิตของคนอื่นๆที่อยู่ในชนบทด้วย ภาพของคนชนบทที่คนกรุงเทพฯเห็น จึงเป็น ‘ภาพ’ ในฝันของตัวเอง ถ้าไม่เป็นชีวิตสงบงามในหมู่บ้านเล็กๆ ตลาดเช้าเล็กๆ ชีวิตเล็กๆ ก็จะเป็นภาพของคนโง่จนเจ็บที่ระทมทุกข์ลำบากเพราะไม่มีความรู้ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติจึง “น่าสงสารจังเลย” “พวกเราระดมเงินไปช่วยพวกเขากันเถอะ” ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ว่าภาพไหนถูกหรือผิด แต่คนกรุงเทพฯ จะไม่มีวันเข้าใจฤดูกาลและความทุกข์สุขที่ผันแปรไปตามฤดูกาลได้อย่างแท้จริงเลย-ถ้าพวกเขาอาศัยอยู่แต่ในเมืองที่ไร้ฤดูกาล มีชีวิตที่ไร้ฤดูกาล และตายไปโดยไร้ความสัมพันธ์กับฤดูกาล

ซึ่งก็คือความสัมพันธ์กับชีวิตที่แท้จริง

ฤดูน้ำหลากคือตัวการพาตะกอนมาทับถมในที่ราบภาคกลาง มันจึงไม่ใช่ความเดือดร้อนหรือคำสาปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นคำอวยพรของฤดูกาลด้วย

ในด้านกลับกัน การมีชีวิตอยู่ในเมืองไข่ในหินอันไร้ฤดูกาลก็หาใช่คำอวยพรเพียงอย่างเดียวไม่

แต่ในเวลาเดียวกัน, มันคือคำสาปที่ร้ายกาจ-และส่งผลถึงหลายมิติของชีวิตและความเข้าใจชีวิตด้วยเช่นกัน!