เมื่อไหร่, ที่ผู้ชายคนหนึ่งจะมองตัวเองในกระจกแล้วบอกตัวเองได้ว่าโตแล้ว บรรลุวุฒิภาวะบางอย่างแล้ว
คำถามง่าย แต่คำตอบไม่ง่ายเลยนะครับ
วันที่ผมเรียนจบ ผมตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง – ในสิ่งที่ใครๆ ไม่เห็นด้วย แม้ยากลำบาก แต่การตัดสินใจเช่นนั้นกลับทำให้รู้สึกมีสุข มีศักดิ์ศรี และคล้ายมีที่ทางให้วางเท้าบนโลก…อย่างอิสระ
เมื่อมองตัวเองในกระจกวันนั้น ผมพลันคล้ายรู้สึกได้เติบโตขึ้น พลางคิดว่า บางทีการเติบโตที่แท้จริงอย่างหนึ่งอาจคือความกล้าที่จะแสดงออกถึงความแตกต่างนั่นเอง
ผู้ชายอย่างจอห์น เลนนอน บอกผู้หญิงว่า ผู้ชายมีความรู้สึกผสมผสานซับซ้อน และยากที่จะแสดงความรู้สึกภายในออกมา เขาหวังว่าผู้หญิงจะเข้าใจ…ว่าในตัวของผู้ชายทุกคนนั้น มีเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่งซ่อนอยู่ และเด็กผู้ชายคนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเธอ-ผู้หญิง เลยสักนิด
นั่นคือเนื้อหาของเพลงบทที่ชื่อ Woman
ลอร่า สเวนสัน นักเขียนหญิงคนหนึ่งเคยพูดถึงผู้ชายไว้ว่า
…ผู้ชายก็เหมือนไพ่ บางทีเราก็สับไปเจอไพ่คิง แต่ส่วนใหญ่เราจะพบไพ่แจ๊คมากกว่า…
ความเป็น ‘เด็ก’ ในตัวผู้ชายนั้น ผมคิดว่ามีความหมายสองอย่าง
อย่างแรก-ความเป็นเด็กของผู้ชายหมายถึงความอ่อนไหวภายใน หมายถึงความซนและอยากสนุกตามประสาผู้ชาย อยากวิ่งไปในทุ่งเพื่อผจญภัยเหมือนเจ้าชายไร้เดียงสาในนิทาน
แต่อย่างที่สอง-ผมเห็นว่าความเป็นเด็กกลับ ‘ถูก’ ใช้เป็นข้ออ้างให้ผู้ชายได้ทำร้ายผู้อื่น (รวมทั้งตัวเอง) โดยไม่รู้ตัวด้วย
บางทีการตระหนักถึงความเป็นเด็กในความหมายทั้งสอง-อย่างแจ่มชัดในตัวเองก็อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตความเป็นผู้ชาย
บางขณะ ความเป็นผู้ชายทำให้เราต้อง ‘พยายาม’ เหลือเกินที่จะเป็นผู้ชาย การหวนคืนสู่อารมณ์ความรู้สึกวัยเด็กอาจทำให้เรารู้ว่า ที่แท้แล้วเรากำลัง ‘คิด’ และ ‘รู้สึก’ อย่างไรจริงๆ และขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ใช้ข้ออ้างของความเป็นเด็ก มาทำลายหรือทำร้ายคนอื่นด้วย
โดยนัยนี้บางทีความเยาว์วัยก็คือการเติบใหญ่ และการเติบใหญ่ของผู้ชายบางคราวก็ไม่ใช่อะไรอื่น
นอกเสียจากความเยาว์วัย…