เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากทำงานทั้งที่มีงานด่วนไหมครับ
Heidi Grant เคยเขียนบทความใน Harvard Business Review ชื่อ How to Make Yourself Work When You Just Don’t Want to คือจะทำอย่างไรให้เราลุกขึ้นมาทำงานได้ ทั้งที่เราไม่ค่อยอยากทำงาน
บทความนี้เล่าถึงสามเหตุผลของการที่ตัวเรา ‘ไม่ยอมเวิร์ค’ ทั้งที่ ‘ต้องเวิร์ค’ และบอกวิธีแก้เอาไว้เสร็จสรรพ อาจจะไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน แต่ลองอ่านดูก็ไม่เสียหายอะไรนะครับ
เหตุผลที่ 1 : เราไม่อยากทำงานด่วนชิ้นนั้น (เสียที) เพราะกลัวว่าเราจะทำงานนั้นพัง เขาบอกว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะปกติเรามักคิดกับงานว่า ถ้าเราทำงานเสร็จ เราจะได้ ‘รางวัล’ อะไรตอบแทนบ้าง เรียกว่ามี Promotion Focus ซึ่งถ้างานมันพังไปจริงๆ ก็คล้ายกับเราจะไม่ได้เสียอะไรไป (แค่ไม่ได้อะไรมาเท่านั้น) แต่เขาบอกให้ลองคิดกลับด้าน คือให้ลองคิดว่า ถ้าเราไม่ทำงานนั้นๆ (ที่ด่วนมากๆ) เราจะ ‘เสีย’ อะไรบ้าง (เรียกว่าให้มี Prevention Focus แทน) ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเหมือนขับเคลื่อนด้วยความกลัว แต่ถ้างานด่วนจริงๆ และอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายจริงๆ และเราตระหนักว่าจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ทำงานนั้นๆได้ เราก็จะผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำงานนั้นได้
เหตุผลที่ 2 : เราไม่อยากทำงานเพราะเรา ‘รู้สึก’ ไม่อยากทำงาน ซึ่งน่าจะเป็นความรู้สึกที่เกิดกับคนมากมายในแทบทุกวัน เช่น ไม่อยากลุกจากเตียง ไม่อยากไปออกกำลังกาย เบื่อหน่าย อิดหนาระอาใจ ฯลฯ คำถามก็คือ แล้วต้องรอถึงเมื่อไหร่ เราถึงจะ ‘รู้สึก’ ว่าอยากทำงานนั้นๆ ปัญหานี้เกิดกับคนทำงานฟรีแลนซ์จำนวนมากนะครับ เพราะกว่าจะผลักดันให้ตัวเองลงมือทำงานได้ ก็มักจะช้าไป ทำให้ส่งงานไม่ทัน เขาบอกว่าอาการ feel like doing it นั้น จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าเรามัวแต่อ้อยอิ่งไม่ทำ วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือ บอกตัวเองว่าไม่ได้มีอะไรมัดตัวเราไว้กับเตียง ลุกขึ้น แล้วทำ พอทำไปสักพัก ความรู้สึก ‘ติดพัน’ อยู่กับงานจะมาเอง อีกวิธีง่ายๆก็คือการทำ to do list หรือวางตารางเวลาทำงานประจำวันเอาไว้เลย
เหตุผลที่ 3 : เราไม่อยากทำงานเพราะงานนั้นน่าเบื่อ หนัก หรือไม่สนุก อย่างแรกสุดเลยก็คือ ถ้าเรารู้ว่างานจะเป็นแบบนี้ ก็ต้องไม่รับงานนี้แต่แรก แต่หากรับมาแล้ว มี commitment แล้ว ก็ต้องผลักดันให้ลุล่วง มีการศึกษาพบว่า คนเรามักจะประเมินตัวเองสูงไปในเรื่องการควบคุมตัวเอง คิดว่าอีกเดี๋ยวตัวเราในอนาคตก็จะลุกมาทำงานน่าเบื่อพวกนี้เอง (เสมือนไม่ใช่ตัวเรา) เขาเลยบอกว่าให้เราสร้างเงื่อนไขแห่งอนาคตบางอย่างขึ้นมา เช่น ถ้าถึงบ่ายสองโมงแล้ว เราจะต้องหยุดเล่นเฟซบุ๊คเพื่อทำงาน นั่นคือเราต้องไม่ ‘ผลัก’ ตัวตนในอนาคตของเราไปเรื่อยๆ แต่กำหนดเส้นเขตแดนที่เราจะก้าวไปเป็นตัวตนในอนาคตนั้น เขาบอกว่า มีการศึกษาพบว่า วิธีง่ายๆแบบนี้ช่วยเพิ่ม productivity ในการทำงานเฉลี่ย 2-3 เท่าเลยทีเดียว
เคยมีคนบอกว่า-แรงบันดาลใจนั้นมีไว้สำหรับมือสมัครเล่น ส่วนพวกมืออาชีพนั้นก็แค่ลุกขึ้นมาทำงาน, อาจไม่จริงทั้งหมด แต่ก็น่าเก็บไว้เตือนตัวเองในบางครั้งนะครับ