เรื่องของเชิ้ตสีขาวตัวหนึ่ง

ครั้งหนึ่งเมื่อต้องเดินทางไปงานที่ต่างประเทศ ผมพบว่าตัวเองลืมของสำคัญ!

ของที่ว่าเป็นของธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง มันคือเสื้อเชิ้ตสีขาวตัวหนึ่ง

ผู้เชิญไปงานดังกล่าว ระบุมาแล้วเรียบร้อย ว่าอยากให้แขกที่ไปในงานติดไม้ติดมือเอาเสื้อเชิ้ตสีขาวไปด้วย เพราะเราจะต้องแต่งตัวในชุดพิเศษ คือชุดคิลต์แบบสก็อตแลนด์ โดยทางผู้เชิญตระเตรียมเครื่องแต่งกายทุกอย่างเอาไว้ให้พร้อมสรรพ ยกเว้นแต่ขอให้แขกทุกคนนำเสื้อเชิ้ตสีขาวไปด้วยเท่านั้น

ปกติแล้วผมใส่แต่เสื้อสีดำ ในตู้เสื้อผ้าจึงไม่มีเสื้อเชิ้ตสีขาวอยู่แม้สักตัวเดียว ถ้าจะมีเชิ้ตอื่นอยู่บ้างก็เป็นสีเข้มหรือไม่ก็มีลายแถบ ไม่ตรงกับที่ผู้เชิญเน้นย้ำมา

ผมถือว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรม’ ของผู้คน และเมื่อเป็นเรื่องของวัฒนธรรม เราก็ต้องให้เกียรติและ ‘เคารพ’ ในวัฒนธรรมของกันและกัน

ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งเวลาเพื่อนๆ คนไทย (บางคนเท่านั้นนะครับ) ออกเดินทางก็คือ เรามักไม่เข้าใจลึกซึ้งพอถึง ‘ความหลากหลาย’ ของวัฒนธรรม เพื่อนผมคนหนึ่งไปตุรกีแล้วบ่นตลอดทริปว่าอาหารห่วยแตก ย่ำแย่ ซ้ำซาก อีกคนหนึ่งตลกขบขันกับการแต่งตัวของคนพื้นเมืองบางประเทศมาก และอีกคนก็ ‘เหยียด’ ว่าประเทศฝรั่งเศสนั้นมีศีลธรรมต่ำ เพราะอนุญาตให้เด็กเก้าขวบกินไวน์ได้

ที่สำคัญก็คือ ผมมักได้ยินคำพูดประมาณว่า-โอ๊ย! บ้านเราดีกว่า บ้านเราเจ๋งกว่า บ้านเราประณีตกว่า บ้านเราอร่อยกว่า, อยู่เป็นประจำในแทบทุกการเดินทาง

ผมไม่รู้หรอกนะครับ ว่าใครปลูกฝังภาวะ ‘คนไทยเจ๋งที่สุดในโลก’ เอาไว้ในสำนึกของเรา แต่ต้องยอมรับว่าเป็นการทำงานที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะต่อให้เรา ‘ด้อย’ กว่าชาติอื่นอย่างไร เราก็จะพลิกหามุมมาทำให้เราเจ๋งกว่าได้เสมอ ถ้าเขาตระการตากว่า เราจะบอกว่าเราประณีตกว่า ถ้ารสชาติอาหารของเขาบอบบางกว่าเพราะใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เราจะบอกว่าของเราดีกว่าเพราะเราสามารถปรุงรสได้เก่งกว่า อะไรทำนองนี้เป็นต้น

แต่อย่าลืมนะครับ ว่าวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านั้น แน่นอน-อาหารที่แม่ของเราเป็นคนปรุงย่อมอร่อยที่สุดในโลก…แต่นั่นก็สำหรับเราเท่านั้น แม่ของคนอื่นๆก็ทำอาหารอร่อยที่สุดในโลกสำหรับคนอื่นๆด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรเอาอาหารของแม่ตัวเองไปยกตนข่มท่านที่ไหนเลย รอให้คนเอ่ยชมแม่ของเราดีกว่าเอาแม่ของเราไปเอ่ยอวดตั้งเยอะ

ด้วยเหตุที่เห็นว่าวัฒนธรรมสำคัญฉะนี้ ผมจึงไปซื้อเสื้อเชิ้ตขาวมาเตรียมเอาไว้หนึ่งตัว เป็นเสื้อเชิ้ตประเภท ‘การ์เมนต์’ คือสำเร็จรูป วางขายอยู่ทั่วไปในห้างสรรพสินค้านั่นแหละครับ

แต่แล้วเมื่อเช็คอินเข้าไปรอเครื่องบิน ระหว่างเดินไปที่ประตู ผมก็นึกขึ้นมาได้,

ผมลืมหยิบเสื้อเชิ้ตขาวใส่กระเป๋ามาด้วย!

ผมโทรกลับไปเช็คที่บ้าน ปรากฎว่าเสื้อเชิ้ตขาวที่เพิ่งซื้อมาใหม่นั้นวางดิบดีอยู่บนเตียงนั่นเอง ไม่ได้ถูกจับยัดใส่กระเป๋าแต่อย่างใด

ตายละ – ผมจะทำอย่างไรดี เพราะเมื่อบินไปถึงที่หมาย กำหนดการก็บีบรัดจนไม่มีเวลาไปหาซื้อเสียด้วย

ดังนั้น ผมจึงเดินหา ‘เสื้อเชิ้ตขาว’ ในสนามบินสุวรรณภูมิอันเป็นที่รักและภาคภูมิใจยิ่งของเราชาวไทย

นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมตระหนักว่า เสื้อเชิ้ตขาวธรรมดาๆ ผ้าโปร่งบางนั้น เมื่อพะยี่ห้อแบรนด์เนมหรูเข้าไปแล้ว ราคาของมันพุ่งสูงขึ้นไปถึง 25,000 บาท ผมหยิบมาทาบตัว พินิจดูเนื้อผ้า และรู้สึกว่าต่อให้มีเงินก็คงไม่มีความสามารถในการควักกระเป๋าซื้อเสื้อตัวนั้นได้หรอก มันไม่ใช่เชิ้ตขาวอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเชิ้ตลำลองใส่เล่น เนื้อผ้าบางๆโปร่งๆ เหมือนเอาไว้ใส่ชายทะเลมากกว่าใส่ออกงาน คัตติ้งจึงไม่เนี้ยบ

ผมตระเวนเข้าไปในร้านแบรนด์อีกแห่งหนึ่ง คราวนี้เป็นแบรนด์ที่หรูน้อยกว่านิดหน่อย และพบว่าเสื้อเชิ้ตขาวที่นั่นเป็นเสื้อเชิ้ตแบบเป็นการเป็นงานหน่อย เนื้อดี คัตติ้งเนี้ยบ แต่เมื่อถามราคา พบว่าอยู่ที่ตัวละ 12,000 บาท เล่นเอาผมต้องกุมหัว รู้สึกปวดขมับจี๊ดขึ้นมาทันที

ทำไมการหาซื้อเสื้อเชิ้ตขาวในสนามบินจึงมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายถึงเพียงนี้!

โชคดีที่พนักงานขายบอกว่า เสื้อตัวนั้นลด 60% ทำให้ราคาของมันเหลือราวห้าพันบาท ซึ่งจริงๆก็ยังแพงเอาเรื่อง แต่เมื่อดูจากความเนี้ยบและความเร่งด่วนของเวลาแล้ว ผมตัดสินใจซื้อมันมา

ทุกวันนี้ เชิ้ตตัวนั้นแขวนอยู่ในตู้รวมกับเสื้อผ้าราคาถูกทั้งหลาย ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะเสียใจบ้างไหมที่ไม่ได้ไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าของเศรษฐีเนี้ยบๆที่ไหนสักแห่ง ที่สำคัญก็คือ ผมได้ใส่มันแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น เพราะไม่ค่อยได้ออกงานที่ไหน แต่กระนั้น ทุกครั้งที่ได้เห็นมัน ผมมักบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ราคาของ ‘วัฒนธรรม’ นั้น ไม่ถูกเอาเสียเลย

แต่หลายครั้งเราก็ต้องยอมแลก-เพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจบางอย่างที่เงินไม่อาจหาซื้อได้,

ไม่ว่าจะแพงแค่ไหนก็ตาม