ไร้ลูก ไร้คู่ จะอยู่อย่างไรเมื่อแก่

ถ้าตอนนี้คุณอายุราวๆ 30 ปีเศษๆ และรักการอยู่เป็นโสด คุณอาจต้องรีบนึกถามตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ นะครับ ว่าจะอยู่อย่างไรตอนแก่

โลกมี ‘ชาวโสด’ เพิ่มขึ้นมาก ประมาณว่าเฉพาะอเมริกา คนวัย 45-63 ปี ที่เป็นโสด (คือทั้งไม่เคยแต่งงานและหย่าร้างแล้ว) มีมากถึงหนึ่งในสาม เพิ่มขึ้นจากราวสามสิบปีก่อนถึง 50%

คำถามก็คือ คนที่ไร้ลูกและไร้คู่เหล่านี้ พวกเขาจะอยู่อย่างไรตอนแก่

ผมเคยพบคู่สามีภรรยาไร้ลูกชาวอเมริกันที่เกษียณแล้วแต่ร่างกายยังแข็งแรงดี ไปซื้อบ้านไร่ชายทุ่งอยู่กันในชนบท แต่พออายุแตะเลข 8 แล้ว พวกเขาก็เลือกที่จะย้ายกลับไปอยู่คอนโดมิเนียมในเมือง เพราะสะดวกต่อการดูแลตัวเองมากกว่า

แม้จะไร้ลูก แต่พวกเขาก็ยังมีกันและกัน

คำถามก็คือ ถ้าทั้งไร้ลูกและไร้คู่เล่า – เราจะอยู่อย่างไร

นิตยสาร US News เคยมีบทความแนะนำเรื่องนี้ไว้ครับ เขาบอกว่ากับเรื่องนี้เราต้องไม่ประมาท ต้องเตรียมตัวเอาไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อายุนำหน้าด้วยเลข 3 นี่แหละ ดีที่สุด โดยสิ่งที่ควรทำก็คือ

 

1. บอกคนอื่น

การบอกคนอื่นหมายถึงคุณต้องพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือญาติสนิทมิตรสหายของคุณ ว่าคุณตัดสินใจ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีแนวโน้ม) ว่าจะอยู่เป็นโสด ไม่มีลูก ไม่มีคู่ชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น

การ ‘พูดออกมา’ เป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนจำนวนมากยังยึดติดอยู่กับค่านิยมของครอบครัว คือเห็นว่าการมีครอบครัวทำให้ชีวิตเต็มสมบูรณ์ ใครบอกคนอื่นว่า – ฉันไม่แต่งงานหรอก (ย่ะ) มักจะถูกมองแปลกๆ ทำให้หลายคนเงียบๆ ไว้ แต่การเงียบๆ ไว้ จะตัดโอกาสในการเตรียมตัวหลายอย่าง เช่นแทนที่จะเก็บเงิน เพื่อนก็อาจชวนคุณใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะต่างคนต่างไม่คิดถึงอนาคตบั้นปลายพอๆ กัน แถมยังนึกว่า โอ๊ย! เพิ่งสามสิบเอง อีกตั้งนานกว่าจะแก่ หรือไม่บางคนก็อาจคิดว่าเผลอฟลุ้กอาจมีแฟนรวยก็ได้ (ซึ่งโอกาสนั้นยากกว่างมหมีน้ำในมหาสมุทรอีก)

 

2. ลงมือเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ

การเตรียมที่สำคัญที่สุดก็คือการเก็บเงินเก็บทอง ถ้าคุณคิดไว้ตั้งแต่ต้นว่า แก่ๆ จะอยู่เป็นโสดคนเดียว ก็อาจต้องวางแผนทางการเงินกันหน่อย ว่าเป้าหมายปลายทางจะมีเงินก้อนใหญ่แค่ไหน อยากอยู่สบายแค่ไหน เพราะการไปเตรียมตอนสี่สิบนี่ บอกได้เลยนะครับว่าแทบจะสายเกินไปแล้ว

เดี๋ยวนี้มีที่ปรึกษาทางการเงินเยอะแยะครับ คลิกดูในอินเตอร์เน็ตก็ได้ บางเจ้าก็ให้คำปรึกษาออนไลน์ด้วยซ้ำ ถ้าคุณเริ่มเร็ว คุณก็จะบรรลุเป้าหมายเร็ว

นอกจากนี้ ให้ลองสำรวจตรวจตราดูว่า คุณอยู่ในครอบครัวที่ญาติๆ อายุขัยเฉลี่ยเป็นยังไงกันบ้าง ถ้าญาติๆ อายุไม่ค่อยยืน ป่วยตายด้วยโรคต่างๆ ที่อาจถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะ (ไม่ได้แช่งนะครับ แต่เป็นเรื่องของความน่าจะเป็น) คุณอาจจะป่วยเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วถ้าป่วย ก็ต้องใช้เงินใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าอยู่ในครอบครัวอายุยืน ก็เป็นปัญหาไปอีกแบบ เนื่องจากคุณอาจต้องเตรียมเงินหลังวัยทำงานไว้ก้อนใหญ่พอสมครเลยทีเดียว

 

3. ผูกมิตรใหม่ๆ และอย่าได้เลิกคบเพื่อนเก่า

อันนี้สำคัญ เพราะการมีสายสัมพันธ์ทางสังคมนั้นเป็นเรื่องที่หาค่ามิได้ เพื่อนใหม่ๆ ที่อายุน้อยกว่าคุณ จะทำให้คุณตามโลกตามเทรนด์ทัน รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และยังตื่นเต้น กระฉับกระเฉง ไม่ตกยุคตกสมัย ในขณะที่เพื่อนเก่าๆ เป็นเหมือนบ้านที่แสนสบาย ทำให้คุณสบายใจเวลาได้อยู่ด้วย ได้รื้อฟื้นเรื่องราวเก่าๆ ด้วยกัน

มีการศึกษาพบว่า คนวัย 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีเพื่อนหรือมีเพื่อนน้อยเนื่องจากเพื่อนใหม่ก็ไม่คบ เพื่อนเก่าก็ค่อยๆ ทยอยตายไปทีละนิด จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่มีเพื่อนเยอะถึงสองเท่า โดยไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพหรือสถานภาพทางสังคมด้วยนะครับ

เพื่อนจะช่วยให้คุณไม่เป็นโรคซึมเศร้าในวัยชรา ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมาก พบว่าคนวัย 65 ปีขึ้นไป จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 20% ซึ่งสูงมากนะครับ แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยยอมรับด้วยว่าตัวเองป่วย

 

4. เตรียมการอย่างเป็นทางการ

คำว่า ‘อย่างเป็นทางการ’ ก็คือการเตรียมมอบหมายเอาไว้ทุกเรื่อง พาสเวิร์ดอะไรอยู่ตรงไหน มีสมบัติตรงไหนบ้าง แต่งตั้งทนายความอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แม้ฟังดูเหมือนเร็วเกินไป แต่ยิ่งให้เป็นระบบระเบียบได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

ที่สำคัญ ถ้าคุณไม่มีลูก ไม่มีคู่ และไม่มีญาติพี่น้อง อาจต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้หน่อย ว่าจะให้เพื่อนคนไหนตัดสินใจแทนคุณเวลาที่คุณต้องเข้ารับการรักษาด่วนโดยที่คุณไม่อยู่ในสภาพที่จะเซ็นอะไรได้ เรื่องแบบนี้อาจช่วยชีวิตคุณได้นะครับ

 

5. เตรียมที่อยู่

ตอนสามสิบ จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปเถอะครับ แต่พออายุมากขึ้น คุณอาจต้องหาที่ทางอยู่ในย่านที่ ‘เดินได้’ (มี Walkability) อยู่ใกล้สถานพยาบาล หรืออยู่ใกล้ชุมชนที่สามารถหาซื้อข้าวของและบริการต่างๆ ได้โดยสะดวก ซึ่งก็ต้องเตรียมแต่เนิ่นๆ เช่น คุณอาจทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่คิดแล้วว่าตอนแก่จะไปอยู่เชียงใหม่ ก็อาจเริ่มผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ ที่เชียงใหม่ ไว้ก่อนเลยก็ได้

 

6. รักษาสุขภาพ

เรื่องนี้แทบไม่ต้องบอกกัน ดูแลเรื่องการกินและการออกกำลังกายให้ดี และรักษาสมองให้แจ่มใสเอาไว้ด้วย

อย่าลืมวางแผนการเดินทางท่องโลกเอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้ด้วยนะครับ เพราะถ้าอายุมากขึ้น คุณอาจเดินทางไม่ไหวแล้ว หรือไม่ก็ไม่สนุกเท่าวัยนี้ แต่ก็ดูให้พอดีกับงบประมาณและการออมของตัวเองด้วย

การสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ถ้าทำได้ก็งดเว้นไปเสียเถอะครับ เอาเงินและเวลามาเตรียมตัวอยู่อย่างไร้คู่ไร้ลูกแต่ไม่ไร้สุขกันดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ตึงเครียดกับการเก็บเงินจนเกินไปด้วยนะครับ อย่ามัวแต่เก็บเงินกลัวแก่อยู่นั่น จนไม่ได้หาความสุขความสบายเสียแต่เดี๋ยวนี้

อันนี้ก็ไม่ Healthy สักเท่าไหร่ครับ