มีโอกาสไปร่วมประชุมกับ ‘ผู้อาวุโส’ จำนวนมาก ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง
เราคุยกันด้วยปัญหาสุดแสนคลาสสิค – ว่า, ทำไม ‘เด็กสมัยนี้’ ไม่ค่อยอ่านหนังสือ
ทุกคนแลดูสับสน ไม่เข้าใจ เพราะประสบการณ์ในการ ‘ส่งเสริมการอ่าน’ หรือการก่อตั้ง ‘สถาบันพัฒนาหนังสือ’ (หรือ ‘สถาบันพัฒนาการอ่าน’ อะไรสักอย่างหนึ่ง) ที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค พ.ศ. 2515 โน้น, กลายเป็น ‘ประสบการณ์’ ที่ใช้ไม่ได้ไปเสียแล้วในโลกยุคใหม่
นักวิเคราะห์ฝรั่งบอกว่า ในบรรดาข้อมูลของสิ่งที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติทั้งหมดนั้น 90% เพิ่งสร้างขึ้นใน 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ก่อนหน้านี้ ผู้อาวุโสทั้งหลายแสวงหา ‘ความรู้-ความงาม-ความจริง’ กันจากการอ่านหนังสือ พวกเขาจึงคิดว่าหนังสือคือสิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตน ความคิด และเปลี่ยนแปลงโลกของพวกเขาไป
จริงอยู่ หนังสือยังทำหน้าที่นั้นอย่างซื่อสัตย์ และเอาเข้าจริงก็อาจเป็นการทำหน้าที่ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีสื่อใดๆ ปรากฏตัวขึ้นในโลกนี้ด้วยซ้ำ
แต่กระนั้นก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สรรพหนังสือทั้งปวงทุกเล่มที่เคยถูกพิมพ์ ถูกเย็บกี่ ไสกาว ทำปก และวางขายนั้น ถือเป็น ‘ข้อมูล’ เพียงราว 10% ของข้อมูลทั้งปวงที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นเท่านั้น
โปรดอย่าลืมว่า – ข้อมูล 90% เพิ่งถูกสร้างขึ้นในเวลาราว 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง, 90% จึงคือข้อมูลใหม่เอี่ยม
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจ และเลิกค่อนแคะได้แล้วว่าคนยุคใหม่อยู่ในสังคมก้มหน้า เพราะเมื่อพวกเขาก้มหน้า พวกเขาเห็น ‘โลก’ อยู่ในนั้น
เป็นการเงยหน้าขึ้นสนทนากับผู้อาวุโสและคนรอบข้างต่างหาก – ที่ตีกรอบจำกัดให้พวกเขาอยู่ในโลกที่ ‘แคบ’ ลง
ผู้อาวุโสกล่าวแก่กันว่า – ต้องส่งเสริมภาษาไทยให้หนักมือยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญและหายไปจากการเรียนการสอนภาษาไทยก็คือ – การคัดลายมือ และ การผันวรรณยุกต์
“เด็กสมัยนี้ผันวรรณยุกต์ไม่เป็นนะคะ” ใครคนหนึ่งกระแทกด้วยการออกเสียงภาษาไทยที่ ‘ชัดเปรี๊ยะ’ ประหนึ่งลิ้นจะขาดหลุดออกมาเนื่องการรัว
คำถามก็คือ – การคัดลายมือและการผันวรรณยุกต์ เป็นเรื่องที่ ‘จำเป็น’ ต่อการรักษาภาษาไทยเอาไว้จริงๆ หรือ หรือว่ายังมีอะไรอื่นที่จะช่วยต่อชีวิตภาษาที่ถูกมองว่าถูกรังแครังคัด วิบัติจนใกล้ตายภาษานี้ได้
หรือ – ที่สำคัญกว่านั้น, ภาษาไทยไม่ได้กำลังจะตาย
ภาษาไทยไม่เคย ‘กำลังจะตาย’ เพราะมันถูกตีฟอง ต่อยอด สะบัดพลิ้วไปกับการวิวัฒน์ สบถ สอดร้อย ด่าก่น สลัดลิ้น กระดกเพดานปาก และเล่นสำนวนชวนเวียนหัว…ของ ‘เด็กสมัยนี้’
เป็น ‘เด็กสมัยนี้’ ที่ก็เป็น ‘เจ้าของภาษาไทย’ เหมือนกันกับผู้อาวุโสที่นั่งปึ่งหน้าเชิดผมไม่กระดิกทั้งหลายที่มาชุมนุมกันโดยนัดหมายแต่เช้าตรู่เหล่านี้
ผมอดคิดไม่ได้ – ว่าผู้อาวุโสเหล่านี้กำลังเติบใหญ่เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ ที่ ‘สับสน’
พวกเขาสับสน เพราะไม้เรียวของครูภาษาไทยที่เคยเป็นอาวุธกายสิทธิ์ – บัดนี้ใช้การต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ประสบการณ์ที่พวกเขาเคยใช้ได้มาตลอดเวลาแปดสิบปีในชีวิต – บัดนี้กลายเป็นของเปล่าประโยชน์
รางวัลวรรณกรรมที่พวกเขาเคยคิดว่ายิ่งใหญ่เหลือแสน – บัดนี้ไม่ได้มีใครต้องการสักกระผีก
บางทีอาจกลับกลายเป็นพวกเขาเองต่างหาก ที่ต้อง ‘ทำความเข้าใจ’ ให้ถ่องแท้ ว่าในโลกใบใหม่ พวกเขาไม่ได้ ‘ทรงความสำคัญ’ หรือ’ทรงคุณวุฒิ’ เหมือนในโลกใบเก่าอีกต่อไปแล้ว
พวกเขาเพียงแต่ทรงวัยวุฒิเท่านั้น
ถ้าผู้อาวุโสเหล่านี้ทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ พวกเขาก็จะผ่านพ้นไปอย่างเงียบงัน แน่นอน – ย่อมมีคุณค่ามากมายให้คนรุ่นถัดๆ ไปเก็บเกี่ยวอยู่นั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเหมาะสมกับโลกภายภาคหน้า มันอาจเป็นได้แค่บทเรียนแห่งอดีต เพื่อการไม่หวนย้อนกลับไปซ้ำรอยเดิมอีก – ก็เท่านั้น
เป็นเรื่องยากที่ผู้อาวุโสเหล่านี้จะทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้
เพราะเวลาของพวกเขาเหลือน้อยลงทุกที