ในประเทศปกติ การด่าประเทศเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะด่าประเทศของตัวเองหรือของผู้อื่น
แน่นอน การ ‘ด่า’ ในที่นี่ย่อมมีเส้นบางๆ ขวางกั้น ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน กับการใช้ Hate Speech ซึ่งเส้นกั้นบางๆ ที่ว่า ย่อมขึ้นอยู่กับต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละคน
ไปดูกันว่า 6 หนังสือ ที่มีแก่นแกนตรงการ ‘ด่า’ หรือวิพากษ์สังคมและประเทศ (โดยเฉพาะประเทศของตัวเอง) อย่างหลากหลาย มีหนังสืออะไรบ้าง

แพร์ซโพลิส (Persepolis)
แพร์ซโพลิส (Persepolis)
Marjane Satrapi : เขียน/ ณัฐพัดชา : แปล / สำนักพิมพ์กำมะหยี่
เล่มนี้ด่าอย่างน่ารัก ด้วยลายเส้นแบบ Comic Books โดยผู้เขียน (วาด) ได้ฉายภาพในวัยเด็กของเธอ สมัยที่อยู่ในอิหร่านยุคปฏิวัติศาสนา หนังสือแบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกเป็นเรื่องตอนเธออยู่อิหร่าน เกิดเหตุการณ์มากมายในอิหร่านยุคนั้น (ราวทศวรรษ 80s) เช่นการปฏิวัติศาสนา การทำสงครามกับอิรัก การปฏิวัติ การล่มสลายของระบอบ เป็นเล่มที่ฮือฮามาก เพราะแสบสันต์กัดจิกโดยใช้ลายเส้นน่ารักแบบเด็กๆ แต่เจ็บลึก เล่มสองอาจจะผ่อนคลายลงมาหน่อย เพราะเป็นช่วงที่เธอออกนอกประเทศแล้ว และไปเรียนอยู่ในออสเตรีย

ถนนชีวิต…ถนนมิเกล (Miguel Street)
ถนนชีวิต…ถนนมิเกล (Miguel Street)
วี. เอส. ไนพอล (V.S. Naipaul) : เขียน / จิตราภรณ์ วนัสพงศ์ : แปล / แพรวสำนักพิมพ์
เล่มนี้ด่าอย่างปวดร้าว ด้วยฝีมือของนักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี 2001 จากสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก เขาเกิดในครอบครัวเชื้อสายฮินดู วรรณะพราหมณ์ เล่มนี้เป็นเรื่องสั้นที่เชื่อมโยงกัน เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ถนนมิเกลคือภาพตัวแทนของถนน Luis ที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่จริงๆ แต่ละเรื่องจะเล่าถึงตัวละครแต่ละตัวบนถนนสายนั้น มีทั้งช่างไม้ที่ไม่เคยทำอะไรเสร็จ กวีที่เขียนกวียิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขียนได้ไม่เกินหนึ่งบรรทัด ฯลฯ เนื้อหาน่ารักแต่แฝงการด่ากราด และตอนจบ ตัวละครที่เล่าเรื่องก็หนีไปเสียจากถนนแห่งนั้น (555)

ในยามถูกเนรเทศ
ในยามถูกเนรเทศ
อันตัน เชคอฟ (Anton Chekhov) กับ ซอมเมอร์เซ็ต มอห์ม (Somoerset Maugham) : เขียน / ศรีบูรพา : แปล / แพรวสำนักพิมพ์
เล่มนี้เป็นงานแปลของ ‘ศรีบูรพา’ ที่หายากมาก เป็นรวมเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง (คือ ‘ในยามถูกเนรเทศ’ ของเชคอฟ) กับเรื่องยาวอีกเรื่อง (คือ ‘สระสวาท’ หรือ The Pool ของมอห์ม) แน่นอน เรื่องแรกเกิดในรัสเซีย เป็นเรื่องของคนต้องโทษที่ถูกเนรเทศไปอยู่ในดินแดนลำเค็ญ ก็จะมีตาเฒ่าคนหนึ่งมาคอยสอนสั่งเด็กหนุ่มผู้มาใหม่ ว่าจะต้องใช้ชีวิตในดินแดนถูกเนรเทศนี้อย่างไร เป็นการ ‘ด่า’ แบบนิ่งๆ เรียบๆ แต่เจ็บลึกมาก ในขณะที่ ‘สระสวาท’ เป็นตำนานรักในหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งมอห์มก็ ‘ด่า’ ลัทธิล่าอาณานิคมของชนเผ่าตัวเองไว้อย่างเนียนๆ สรุปว่าเล่มนี้ด่าเนียนทั้งสองเรื่อง – แต่ก็ด่า

ฝรั่งเศส ฝรั่งแสบ (Sixty Million Frenchmen Can’t Be Wrong)
ฝรั่งเศส ฝรั่งแสบ (Sixty Million Frenchmen Can’t Be Wrong)
Jean-Benoit Nadeau และ Julie Barlow : เขียน / วลัยภรณ์ นาคพันธุ์ : บรรณาธิการ / สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม
ถ้าจะหาหนังสือด่าชาติ (ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ชาติตัวเอง) ที่แสบที่สุด ไม่น่ามีเล่มไหนเกินเล่มนี้อีกแล้ว เขียนโดยนักเขียนที่มาจากแคนาดา (ฝั่งที่พูดฝรั่งเศส) แล้วก็มาตั้งหน้าตั้งตาด่าๆๆๆๆ ชาวฝรั่งเศสในทุกมิติ ทั้งเรื่องกฎหมาย โครงสร้างสังคม การกินการอยู่ กิริยามารยาท อ่านแล้วจะซาบซึ้งเลยว่า ที่หนังสือเล่มนี้มันออกมาได้ ก็เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศเสรีนิยมโดยแท้

กว่าจะเป็นอเมริกัน
กว่าจะเป็นอเมริกัน
วิภาวรรณ ตุวยานนท์ : บรรณาธิการ / สำนักพิมพ์คบไฟ
เล่มนี้น่าจะเป็นหนึ่งในสองเล่มที่ไม่ได้ ‘ด่า’ (ในความหมายของการด่า) แต่เป็นการ ‘ย้อนอดีต’ (หรือ ‘ลำเลิก’) ให้ดู ว่ากำพืดชาติพันธุ์ของชนเผ่าอเมริกันนั้น มีที่มาอย่างไร ตั้งแต่เรื่องชายแดน กระแสความคิดสำคัญๆ คตินิยมในท้องถิ่น การกลืนเผ่าพันธุ์อินเดียนแดง การค้าทาส ไปจนถึงประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม คือไม่ได้ด่าสักแอะ แต่ถ้าได้อ่าน ก็ต้องหูลีบหางตกเจียมเนื้อเจียมตัวในความเป็นมาของตัวเองไปโดยปริยาย

“ชาติไทย” ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า
“ชาติไทย” ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า
โสภา ชานะมูล : เขียน / สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม
ตบท้ายด้วยเล่มนี้ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเลย เป็นแค่การพูดถึง ‘ชาติไทย’ ในทัศนะของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้นเอง เนื้อหาก็คล้ายๆ เล่ม ‘กว่าจะเป็นอเมริกัน’ คือไม่ได้ด่าใครเลยสักแอะ แค่ ‘เล่า’ และ ‘เท้าความ’ ให้เห็นเท่านั้นเอง ว่าที่ที่เราอยู่นี้ – มันมีความเป็นมายังไง, แค่นี้ก็ซาบซึ้งกินใจจะแย่อยู่แล้ว!