ความเหงาของคนยุคใหม่

บางคนอยู่คนเดียวไม่ได้ ความเหงา (หรือที่เรียกกันด้วยศัพท์สมัยใหม่ว่า ‘ความหว่อง’) จะต้องเข้ามาจู่โจม แต่กระนั้นก็มีคนอีกมากมายที่ทะนุถนอมการได้อยู่ลำพังเอาไว้ราวกับนั่นคือสิ่งมีค่า พวกเขาเลือกที่จะดูหนังลำพัง กินข้าวลำพัง อ่านหนังสือลำพัง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามลำพัง

น่าสนใจที่คนแบบแรกมักคิดว่าคนแบบหลังผิดปกติเพราะเสพติดความเดียวดายมากเกินไป

แต่ในอีกแง่หนึ่ง อาจพูดได้ว่าสังคมสมัยใหม่นั้นมีความเป็นปัจเจกหรือ Individualism มากกว่าการเป็นสังคมรวมหมู่หรือ Collectivism ทั้งนี้ก็เพราะเราได้สร้างโลกให้น่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้นกว่ายุคหินหรือยุคสงครามโลกมากมายนัก

คนจึงมี ‘ความสามารถ’ ที่จะอยู่คนเดียวและสำรวจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกและในสังคมเมืองที่มีปัจเจกภาพเป็น ‘ฐาน’ สำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียงที่เสมอภาคกัน

โดยนัยนี้ การทำอะไรคนเดียวจึงไม่ได้เป็นแค่การทำอะไรคนเดียว แต่คือการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง (ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความเบื่อหน่ายรำคาญ Collectivism ก็ได้) ด้วยสำนึกและรู้ว่าตัวเองอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบใหม่ที่เปิดกว้างและเอื้อให้คนแต่ละคนสามารถเปล่งศักยภาพที่จะเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริงและ ‘กล้า’ พอที่จะอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องกลัวหมี เสือ หมาป่า หรือนักรบเผ่าศัตรูอย่างที่มนุษย์เคยเป็นในอดีต

การทำอะไรคนเดียว และ/หรือ การได้อยู่คนเดียวด้วยกัน (alone together) จึงอาจไม่ได้เป็นสัญญาณของอาการป่วยเพราะเสพติดความเดียวดายมากเท่ากับเป็นสัญญาณความก้าวหน้าบางอย่างของสังคมก็ได้