ถ้าคุณกำลังเบื่ออาหารผสมผสานประเภทผสมผสาน – ซึ่งหาได้ทั่วทุกหัวระแหงของโลก ไปที่ไหนก็ได้เห็นวินีการ์ผสมเต้าเจี้ยวใส่โชยุราดลงบนกัวคาโมเลและผักร็อกเก็ต หรือเส้นคาเพลลินีม้วนกลมราดซอสหอยนางรม
บางทีคุณอาจต้องหันกลับไปหาโลกแห่งอาหารที่มั่นคงอยู่กับประเพณีเสียแล้ว
นั่นคืออาหารกรีก
ในหนังเรื่อง My Big Fat Greek Wedding นางเอกของเรื่องไปโรงเรียนในอเมริกา โดยพกห่ออาหารกลางวันไปด้วย เพื่อนๆเปิดกล่องอาหารมาอวดกันทีละคน เธอเอาอะไรมา, แซนด์วิชทูน่า-อีกคนตอบเสียงใส พลางหันมาถามนางเอกของเรา-ของเธอล่ะ
นางเอกกรีกเปิดกล่อง เห็นอาหารประหลาดวางเขละเป็นชั้นๆอยู่ในกล่อง แตกต่างจากแซนด์วิชเรียบๆของเพื่อนๆอย่างสิ้นเชิง
“มูซาก้า” เธอตอบ-อายสุดขีด!
จะเรียกมูซาก้าว่าเป็นอาหารประจำชาติกรีกก็คงได้ มันมีลักษณะคล้ายเชพเพิร์ดสพายของอังกฤษหรือลาซานญาของอิตาลีแต่ภายนอก ขณะที่ภายในนั้นไม่เหมือนลาซานญาเลยแม้แต่นิดเดียว
ในหนัง มูซาก้าอาจไม่เป็นที่รู้จักของใคร แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะยุคเรอเนสซองส์ของอาหารกรีกกำลังมา คนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ของยุโรป อเมริกา และแม้แต่ออสเตรเลีย กำลังเห่ออาหารกรีก ค่าที่นี่คืออาหารที่มีลักษณะเฉพาะ ทว่าผสมผสานสุดยอด และในเวลาเดียวกันก็ดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง
ด้วยส่วนผสมหลักอย่างมะกอกดำ น้ำมันมะกอก โยเกิร์ต ดิลล์ อาหารทะเล เนื้อแกะ เฟต้าชีส เลมอน กระเทียม เมล็ดเอนิส มะเขือเทศ และอีกนานาสารพันส่วนประกอบที่ล้วนไม่ทำร้ายร่างกาย
In the Greek Pot
ถ้าคุณมีโอกาสไปเยือนหมู่เกาะแสนสวยของกรีกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อแน่ว่าคุณจะต้องตกหลุมรักทะเลสีครามและบ้านเรือนสีขาวที่นั่น ไม่ทั้งหมู่เกาะในทะเลอีเจียน อย่างน้อยก็มิโคโนสหรือซานโตรินี หรือถ้าขึ้นฝั่ง คุณจะรักบรรยากาศเปี่ยมเสียงดนตรีของเทสซาโลนีกิทางตอนเหนือพอๆกับตื่นตะลึงในอารยธรรมและพาร์เธนอนของเอเธนส์ทางตอนใต้
ทุกจัตุรัสประจำเมือง ทุกคาเฟ่ และทุกตลาดที่นี่มีเครื่องเทศและมะกอกวางเรียงรายพรืดไปหมด-ล้วนแต่มีชีวิตชีวา
แต่ถึงอย่างนั้น คุณจะรักกรีกได้ไม่เต็มหัวใจ ถ้าคุณไม่ได้นั่งอยู่ในคาเฟ่สักแห่งแล้วจิ้มส้อมลงไปที่ชีสทอดซากานากิแกล้มกับไวน์กรีกเรตซินา หรือเหล้าลิเคียวร์ที่ทำจากเมล็ดเอนิสอย่างอูโซ ก่อนตบท้ายด้วยกาแฟกรีกข้นคลั่กแกล้มขนมบาคลาวาที่หวานกรุบกรอบไปกับวอลล์นัทและอัลมอนด์
อาหารกรีกจะทำให้คุณรู้สึกคล้ายได้กลับบ้าน หวนสู่อู่อารยธรรมดั้งเดิม ได้กลิ่นแกะ มีอวลอายของชีวิตแบบเบดูอินในทะเลทรายอาหรับปนไปกับชาวประมงแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เต็มไปด้วยรสชาติจัดจ้านจริงใจเหมือนชาวบ้าน ไม่กลมกล่อมวางตัวสูงส่งเหมือนอาหารฝรั่งเศส ไม่โวยวายแสดงตัวโอ่อ่าเหมือนอาหารอิตาลี ไม่เผ็ดร้อนแสดงตัวเป็นกันเองเหมือนอาหารสเปน ทว่ามีสไตล์ เต็มไปด้วยตัวตน หอมเครื่องเทศผสมผสาน และจัดจ้านแต่ไม่เผ็ดร้อน
โจเซพ พลา นักเขียนและแพทย์ชาวสเปนผู้เกิดที่แคว้นคาทาลันเคยเขียนไว้ว่า
‘อาหารประจำชาติหนึ่งๆ ก็คือภูมิทัศน์แห่งประเทศนั้นที่ใส่ลงไปในหม้อปรุงอาหาร’
ถ้าเป็นจริงอย่างที่โจเซพ พลา ว่า ในหม้ออาหารกรีกก็คงมีทั้งทะเลที่สวยที่สุดในโลกและภูเขาเก่าแก่กลางเมืองที่มีพาร์เธนอนวางตัวอยู่ อาหารกรีกจึงเปี่ยมทั้งอารยธรรม พรสวรรค์ ความสดชื่น ความเขียวสดของพืชพรรณนานาสัตว์ ทั้งบนบกและในทะเล แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ กรีกวางตัวอยู่ระหว่างอารยธรรม ระหว่างตะวันออกและตะวันตก อาหารของกรีกจึงได้รับอิทธิพลจากทั้งโลกอาหรับ แอฟริกา เครื่องเทศจากตะวันออกไกล ผสมผสานกับวิธีทำอาหารของยุโรป
ถ้าคุณชอบข้าว กรีกมีข้าวของตัวเอง คล้ายริซอตโตของอิตาลี คล้ายพิลาฟของแอฟริกา และมีโดลมาเดส-ข้าวห่อใบองุ่นแสนอร่อย
ถ้าคุณชอบแป้ง กรีกใช้ทั้งแป้งเซโมลินาและแป้งขนมปังคล้ายนานหรือโรตีของอินเดีย และบางเมนูก็คล้ายคูสคูสของแอฟริกาเหนือ ขนมปังของกรีกมีทั้งขนมปังมะกอกที่เรียกว่าอีลิโอปิต้า และขนมปังปิต้าเบรดที่ไม่มีช่องว่างตรงกลางเหมือนปิต้าเบรดของเลบานอน
ถ้าคุณชอบเนื้อสัตว์ กรีกมี ‘แฮมเบอร์เกอร์’ ของตัวเองที่เรียกว่าเคพเทเดส มีเนื้อแกะย่างแบบเคบับที่เรียกว่าซุฟลากิ มีสตูว์ ถ้าคุณชอบผัก กรีกมีอาหารปลอดเนื้อสูตรดั้งเดิมหลายสูตร ทั้งข้าวอบอยู่ในผักอย่างมะเขือม่วงหรือพริกหวาน ผักย่าง ผักอบ
ถ้าคุณชอบอาหารทะเล อย่ารีรอที่จะลิ้มลองหนวดปลาหมึกยักษ์ย่างสูตรเฉพาะของกรีก แต่ถ้าคุณชอบอะไรเบาๆ กรีกก็มีเครื่องจิ้มอร่อยๆหลากหลาย อย่างแซทซิกิที่เป็นโยเกิร์ตกับแตงกวาจิ้มกับปิต้าเบรดสุดสดชื่น หรือเมลิตซาโนซาลาตาที่ทำจากมะเขือม่วงกับชีสได้รสมัน เค็ม เต็มลิ้น
และถ้าคุณชอบของหวาน กรีกก็มีโยเกิร์ตรสสดชื่นแกล้มผลไม้ มีเพสตรี้ลูกนัทที่เรียกว่าบาคลาวา มีโดนัตน้ำผึ้ง มีเค้กอัลมอนด์ตำรับกรีก และมีแม้กระทั่งเครปที่คล้ายแต่ไม่เหมือนเครปของฝรั่งเศส
ขอต้อนรับเข้าสู่โลกแห่งภูมิทัศน์อันหลากหลายและยิ่งใหญ่ในหม้ออาหารกรีก!
On Greek Table
เรามาทำความรู้จักกับอาหารกรีกที่เป็นเสมือน ‘เทรดมาร์ค’ อันโดดเด่นกันดีกว่า
แน่นอน พระเอกของอาหารกรีกไม่มีอะไรเกินมูซาก้า นี่คืออาหารจานป๊อบของกรีก บางคนมองเผินๆแล้วคิดว่าเป็นลาซานญาของอิตาลีหรือไม่ก็เชพเพิร์ดส์พายของอังกฤษ
แต่มันคือมะเขือม่วงหั่นสไลซ์วางเรียงอยู่ที่ก้นถาดพร้อมด้วยหัวหอม เนื้อแกะบดและซอสมะเขือเทศ จากนั้นราดด้วยซอสเบชาเมล (bechamel sauce) ก่อนนำไปอบจนเป็นสีน้ำตาลทองสวย
อีกจานหนึ่งที่โดดเด่นมากก็คือซากานากิ (saghanaki) ซึ่งจริงๆก็คือชีสทอด
คำว่าซากานากิ เป็นภาษากรีก แปลว่ากระทะเหล็กหนักๆที่ใช้ปรุงอาหารจานนี้ ซากานากิอาจเป็นมอสซาเรลลาหั่นยาวๆทอด หรือเป็นเฟต้าชีสทอดก็ได้ ตำรับดั้งเดิมทอดเฉยๆ แต่บางที่ก็นำชีสไปคลุกแป้งขนมปังก่อนทอด และบางแห่งก็ใช้คำว่าซากานากิในความหมายของชีสที่ผัดรวมไปกับส่วนผสมอื่น เช่น ผัก หรืออาหารทะเล ต้องแอบกระซิบว่า ซากานากินั้นต้องกินร้อนๆ ถ้าได้แกล้มกับไวน์หรือเหล้ากรีกด้วยยิ่งอิ่มเอมเปรมใจ
อีกชื่อหนึ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือซุฟลากิ (souvlaki) ซึ่งจริงๆก็คือบาร์บีคิวกรีก
ส่วนใหญ่จะใช้เนื้อแกะ แต่ก็ยักย้ายมาใช้เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือแม้แต่เนื้อหมูแทนได้ ซุฟลากินี้คุณจะเห็นอยู่ทุกหัวระแหงบนถนนของกรีก เพราะนี่คืออาหารจานสะดวกอย่างหนึ่งของเขา โดยจะห่อเนื้อไว้ในปิตาเบรดม้วนเป็นรูปกรวย ใส่ซอสลงไปข้างใน กินด้วยมือ
ถ้าจะให้เป็นกรีกขนานแท้ ก็ต้องใส่ซอสโยเกิร์ตที่เรียกว่า แซทซิกิ (tzatziki) แซทซิกินี้เป็นได้ทั้งซอสที่ใช้ราดเนื้อ และเป็นเครื่องจิ้ม (dip) ได้ด้วย เป็นซอสโยเกิร์ตที่มีส่วนผสมของแตงกวา กระเทียม ใบสะระแหน่ จึงสดชื่นมาก แต่ไม่ว่าจะกินแซทซิกิอย่างไร จะจิ้มหรือจะราด คุณก็ต้องกินกับขนมปังอยู่ดี ขนมปังของกรีกมีสองแบบใหญ่ๆ คือเป็นแผ่นอย่างปิต้าเบรด (ที่ใช้ห่อซุฟลากิ) หรือเป็นแท่ง (ใช้จิ้มกับแซทซิกิได้สะดวก) หรือคุณจะวางปิต้าเบรดลงในจาน ตามด้วยซุฟลากิ แล้วราดซอส กินแกล้มกับสลัดกรีกโดยใช้มีดและส้อมก็ได้อีก
สลัดกรีกคืออาหารลือชื่ออีกอย่างหนึ่งของกรีก ด้วยสไตล์เฉพาะตัวที่ผสมผสานเอาเฟต้าชีส มะเขือเทศ มะกอกดำ (ต้องเป็นมะกอกคาลามาตา-kalamata หรือ calamata ก็ได้, ของกรีกด้วย ถึงจะได้รส) หัวหอม และน้ำมันมะกอกและวีนิการ์ กินแกล้มกับปิต้าเบรดอร่อยนัก
สำหรับคนที่ชอบอาหารทะเล กรีกก็มีอาหารจานเด็ดเป็นปลาหมึกที่เรียกว่า คาลามารี (calamari) ซึ่งทำได้ทั้งทอดและย่าง ราดซอสต่างๆหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นซอสที่มีมะเขือเทศเป็นองค์ประกอบหลัก บางแห่งก็เด็ดเหลือเกิน โดยการเอาปลาหมึกคาลามารีมายัดไส้ชีส โอ้โห! ฟังแล้วน้ำลายสอ แต่ถ้าคุณกลัวเรื่องน้ำหนัก แค่จิ้มปลาหมึกกับน้ำเลมอนคั้นสดๆก็อร่อยแล้ว
นอกจากปลาหมึกคาลามารีตัวเล็ก กรีกยังรักปลาหมึกยักษ์อ๊อกโทโปเทีย (octopothia ซึ่งก็คือ octopus นั่นเอง) อีกด้วย
จานปลาหมึกยักษ์นี่หลายคนอาจสยองไม่กล้ากิน เพราะเขานิยมใช้หนวดปลาหมึกมาปรุง โดยจะนำไปเคี่ยวให้นุ่มก่อน ไม่ได้เคี่ยวธรรมดา แต่เคี่ยวในเหล้าอูโซ (ouzo) ซึ่งจะให้กลิ่นเมล็ดเอนิสหอมแปลก ก่อนนำไปย่างจนกลิ่นควันไฟแทรกซึมเข้ากับกลิ่นเอนิสซีดอร่อยล้ำ สูตรดัดแปลงก็มีจำพวกเคี่ยวหรือหมักในไวน์แดง แต่ถ้าจะให้ได้รสชาติกรีกแท้ๆ ต้องใส่เหล้าอูโซ แล้วเวลากินก็ต้องจิบเหล้าชนิดนี้แกล้มไปด้วย รับรองว่าคุณจะต้องชอบ
In the Glass
นอกจากอาหารแล้ว กรีกมีไวน์เป็นของตัวเองชนิดที่ไม่เหมือนใคร ถ้าคุณไปปาร์ตี้กับเจ้าบ้านที่เป็นกรีก คุณจะพบว่าตัวเองต้องดื่มแก้วแล้วแก้วเล่าไม่มีหยุดยั้ง เพราะคนกรีกถือว่าจะต้องดูแลแก้วของแขกให้เต็มอยู่เสมอ เจ้าบ้านชาวกรีกจะทนเห็นแก้วเหล้าของแขกว่างเปล่าไม่ได้เลย
ไวน์ของกรีกนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีชื่อเรียกว่า เรตสินา (retsina) ซึ่งถ้าเขียนเป็นภาษากรีก ตัว R จะเขียนคล้ายตัว P แต่ก็คือเรตสินานั่นเอง คำว่าเรตสินา จริงๆก็คือคำว่าเรซินในภาษาอังกฤษ เรซินก็คือยางสน และเรตสินาก็คือไวน์ที่มีส่วนผสมของยางสนไพน์ (pine resin) ทำให้มีกลิ่นรสเฉพาะตัว
มีเรื่องเล่ากันว่า เรตสินาเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวกรีกเอายางสนใส่เข้าไปในไวน์เพื่อให้พวกเยอรมันคิดว่าเป็นน้ำมันสน จะได้ไม่แอบขโมยไปดื่ม
แต่นั่นเป็นแค่เรื่องเล่าโรแมนติกของชาวยุโรปที่ได้ลิ้มรสเรตสินาเป็นครั้งแรกเท่านั้น เพราะจริงๆแล้ว วาสสิลี คอร์ทาคิส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรตสินาที่ได้รับความนิยมที่สุดของกรีก เคยเล่าไว้ว่า ชาวกรีกรู้มานานแล้วว่าอากาศเป็นศัตรูกับไวน์ จึงเอายางสนมาปิดกั้นไม่ให้อากาศเข้าขวด คล้ายกับที่ผู้ผลิตไวน์ฝรั่งเศสใช้จุกคอร์ก แต่ยางสนดีกว่าจุกคอร์กตรงที่มันทำปฏิกิริยากับไวน์ด้วยจนเกิดเป็นรสชาติแปลกประหลาดอร่อยล้ำขึ้นมาได้
เรตสินานั้นต้องถือว่าเป็นไวน์ประจำกรุงเอเธนส์ นับย้อนกลับไปสามร้อยปีก่อน ทั่วทั้งกรุงเอเธนส์มี ‘ทาเวอร์นา’ (Taverna) หรือผับอยู่มากถึงหกพันแห่ง ทุกแห่งล้วนแต่ผลิตเรตสินาสูตรของตัวเองทั้งสิ้น องุ่นนั้นนำมาจากชนบท นำเข้ามาในเมืองโดยรถม้า ก่อนจะหมักแล้วนำมาไว้ที่ร้าน แล้วจากนั้น เจ้าของร้านแต่ละแห่งก็จะรินไวน์แช่ไว้ในยางสนโดยจะมีสูตรลับเฉพาะของตัวเอง กว่าจะออกมาเป็นเรตสินาได้ต้องผ่านหลายขั้นตอน เสน่ห์ของเรตสินาจึงอยู่ที่เคล็ดลับและรสชาติที่แตกต่างกันไปของแต่ละแหล่งผลิต
เรตสินามักจะมีรสแรง ทว่ากลมกล่อมอย่างเหลือเชื่อ ถ้าคุณรู้สึกว่าเรตสินาในแก้วของตัวเองแรงเกินไป คุณสามารถผสมโซดาลงไปได้โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีสบายๆที่ชาวกรีกปฏิบัติกัน ไม่เคร่งครัดกับไวน์เหมือนฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลดีคือทำให้คุณนั่งดื่มเรตสินาได้ตลอดคืน!
เหล้ากรีกอีกชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็คืออูโซ (ouzo) ซึ่งถ้าเทียบกับเหล้าอิตาลี ก็ละม้ายแซมบุคก้า (sambucca) สำหรับชาวกรีก การดื่มอูโซเป็นศิลปะและเป็นวิถีชีวิต แหล่งที่ดีที่สุดของอูโซคือเลสวอส แต่จริงๆแล้ว ชาวกรีกถือว่าไม่ใช่อูโซเองหรอกที่สำคัญ เป็นคนที่พวกเขานั่งดื่มด้วยต่างหากที่จะทำให้อูโซรสชาติดีมากแค่ไหน
การดื่มอูโซนั้น จะให้เยี่ยมต้องแกล้มด้วยอาหารกรีกประเภทกินเล่น ซึ่งเรียกว่าเมซเซเดส (mezzedes) คำนี้เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ หมายถึงออร์เดิร์ฟ หรืออาหารจานเล็กๆ ถ้าเป็นคำกรีกจะเรียกว่าเมซเซเดส แต่ถ้าเป็นคำตุรกีจะเรียกว่าเมซเซ (mezze) แต่บางครั้ง ชาวกรีกก็เรียกว่าเมซเซเหมือนกัน ถ้าจะให้เปรียบไป เมซเซก็คล้ายอาหารทาปาส (tapaz) ของชาวสเปนนั่นเอง อาหารทุกอย่างเป็นเมซเซได้หมด ตั้งแต่เครื่องจิ้ม ขนมปัง สลัด ไล่ไปกระทั่งมูซาก้า คงคล้ายกับกับแกล้มของไทย ที่มีอะไรก็กินแกล้มเหล้าได้อร่อยนัก ขอเพียงมีเพื่อนรู้ใจร่วมวง
เมซเซจะช่วยให้ฤทธิ์แอลกอฮอล์ไม่แรงเกินไป จะได้นั่งดื่มได้นับชั่วโมงๆ ชื่นชมธรรมชาติอันงดงามและชีวิตอันรื่นรมย์ของชาวกรีก ยิ่งถ้าได้ไปจิบอูโซในหมู่บ้านเล็กๆริมชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน หรือบนเกาะของทะเลอีเจียน หรือนั่งจิบอูโซในสายวันอาทิตย์ หน้าจัตุรัสของโบสถ์หลังโบสถ์เลิก คุณจะได้ภาพอันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาเป็นกับแกล้มอูโซ มีทั้งเสียงพูดคุย ร้องเพลง และบางครั้งบาทหลวงนิกายกรีกออร์โธดอกซ์ ก็อาจมาร่วมวงจิบอูโซกับคุณด้วย!
อ้อ! เวลาดื่ม อย่าลืมชนแก้วกับเพื่อนร่วมวง แล้วพูดคำว่า ‘ยามาส’ ด้วย คำนี้เหมือนเชียร์สของฝรั่งและเหมือนคัมปายของญี่ปุ่น แล้วคุณก็จะเป็นที่รักของเพื่อนชาวกรีกในวง พวกเขาจะลูบหลังลูบไหล่คุณ พร้อมกับรินอูโซหรือเรตสินาใส่แก้วคุณไม่ให้พร่องตลอดทั้งคืน
แล้วอย่างนี้คุณจะไม่รักเครื่องดื่มของกรีกได้ลงคอเชียวหรือ!
Sweets Treat
ของหวานของกรีกนั้น อย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือโยเกิร์ตกับผลไม้ บางที่ก็ราดน้ำผึ้งมาด้วย แต่บางที่ก็โรยเมล็ดแอนีสใส่เข้ามาทำให้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ขนมที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของกรีกอีกอย่างหนึ่งก็คือบาคลาวา (baklavas) ซึ่งก็คือเค้กหวานที่ทำจากเพสตรีและลูกนัทอย่างวอลล์นัทหรืออัลมอนด์ มีรสชาติหวานกรอบอร่อย เหมาะที่จะกินแกล้มกับกาแฟกรีกข้นคลั่ก ซึ่งปรุงโดยการบดเมล็ดกาแฟให้ละเอียดยิบ จากนั้นนำไปต้มกับน้ำจนออกมาเป็นกาแฟที่ข้นเหลือใจ ข้นเสียจนเมื่อกินหมด คุณจะเหลือกากกาแฟไว้ในแก้ว เอาไว้ทำนายทายทักได้ตามรูปร่างของกากกาแฟที่เหลือและกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของอาหารกรีก ที่คุณไม่ควรพลาด
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณยังไม่อยากลิ้มลองอาหารกรีก เห็นทีจะต้องบอกคุณว่า นักปราชญ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้า’ แห่งการกินอย่างเอพิคิวรัส เป็นชาวกรีก
ตามตำนาน เทพแห่งไวน์ คือไดโอนิซุส ก็มีที่พำนักอยู่บนเกาะนาโซสของกรีก
ตลาดกรีกนั้นมีข้าวของขายหลากหลายมากมายและวุ่นวายอึกทึกเสียจนแพทย์นำคำว่า อะโกรา ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่าตลาด ไปตั้งเป็นชื่อโรคกลัวที่สาธารณะว่า อะโกราโฟเบีย
ชาวกรีกบริโภคน้ำมันมะกอกมากที่สุดในโลก กินชีสมากที่สุดในยุโรป และดื่มไวน์มากกว่าคนฝรั่งเศส
ด้วยเหตุนี้ กรีกจึงเป็นคล้ายอู่อารยธรรมแห่งอาหาร ที่ทำทั้งรับและส่งวัฒนธรรมการกินจากเอเชีย แอฟริกา ยุโรป ผสมผสานเข้าด้วยกัน
นักปราชญ์กรีกอย่างเอพิคิวรัสเคยบอกว่า หลักการพื้นฐานของชีวิตก็คือการเติมเต็มความต้องการของกระเพาะ ทุกเรื่องที่สำคัญๆล้วนแต่ขึ้นอยู่กับหลักการนี้ทั้งสิ้นไม่อาจเปลี่ยนแปลง
นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่อาหารกรีกหวนคืนสู่ยุคเรอเนสซองส์อีกครั้ง!