คิดว่าเรื่องความดังกับความเงียบในสังคมไทยนั้นน่าสนใจ
1. ตอนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พบว่าคนที่มากางเต๊นท์นอนหลายเต๊นท์ส่งเสียงดังมากราวกับคิดว่าพื้นที่นี้เป็นเขตแดน recreational area หรือพื้นที่ ‘สันทนาการ’ ไม่ใช่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือ wildlife sanctuary
2. คำว่า sanctuary นั้น โดยรากศัพท์แล้วหมายถึง sacred place หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น wildlife sanctuary จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของสัตว์ป่า แสดงให้เห็น ‘อำนาจ’ ของสัตว์ที่มีเหนือดินแดนนั้นๆ เพราะคือ ‘สัตว์ป่า’ นี่แหละ ที่ทำให้พื้นที่พวกนี้ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ขึ้นมาได้ แต่ปัญหาคือ คำแปลภาษาไทยที่ว่า ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า’ นั้น มีนัยอีกแบบ คือนัยที่บอกว่า พวกกู (คือมนุษย์) เป็นผู้ ‘รักษา’ พันธุ์สัตว์ป่าเอาไว้ ดังนั้นมนุษย์จึงมีอำนาจเหนือสัตว์ป่า (เพราะจะรักษาหรือไม่รักษาก็ได้) คำแปลในภาษาไทยจึงไม่ได้รักษา ‘นัย’ ของความศักดิ์สิทธิ์และ ‘อำนาจ’ ของสัตว์ป่า (และพันธุ์พืช) หรือ wildlife เอาไว้ (และที่จริงคำว่า wildlife ก็ไม่มีคำเทียบเคียงในภาษาไทยให้แปลได้เท่ากับต้นคำด้วย) เสียงดังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงบอกอะไรกับเราได้หลายอย่างมาก
3. ถ้าดูจากภาษา จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ‘สำนึก’ ของการเข้าไปอยู่ใน wildlife sanctuary ของคนที่ใช้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ-น่าจะต่างกัน และเท่าที่ได้เจอ ก็ดูคล้ายจะเป็นอย่างนั้น
4. เมื่อกลับลงมาที่พื้นราบ พบว่าบ้านตรงข้ามมีงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ และเปิดคาราโอเกะเสียงดังสนั่นหวั่นไหว นกต่างๆในบ้านเตลิดไปหมด เลยนึกถึงคราวที่มีงานศพใกล้ๆบ้าน ตอนนั้นก็จำได้ว่าเสียงดังมากและมีการจุดพลุเสียงสนั่นด้วย ก็เลยสงสัยว่า คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความดังและความเงียบของแต่ละที่น่าจะไม่เหมือนกัน
5. ฝรั่งบอกว่า ความเงียบเป็นสิ่งหรูหรา แต่น่าสนใจว่า ในสังคมไทย การ ‘เสียงดัง’ ต่างหากที่แลดูหรูหรากว่าหรือ ‘มีอำนาจ’ มากกว่า
6. สำหรับหลายคน การได้ ‘เปล่งเสียง’ ให้ดังที่สุด คือการแสดงออกของอำนาจ เราจะเห็นว่า คนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่สุด เช่นตำแหน่งหัวโต๊ะในที่ประชุมหรือบนโต๊ะอาหาร มักเป็นคนที่สามารถจะ ‘เสียงดัง’ ได้มากที่สุด เรามักจะรู้สึกว่า คนที่ ‘เสียงดัง’ ได้มากที่สุด คือคนที่ ‘ใหญ่’ ที่สุด ภาพของคนที่เสียงดังจึงมักเป็นภาพของ ‘นายใหญ่’ หรือ ‘ลูกพี่’ ที่สามารถทุบโต๊ะตัดสินใจ หรือ ‘พูดคนเดียว’ ได้นานที่สุด (ไม่ว่าคนอื่นจะฟังหรือไม่ก็ตาม) ยิ่งในสังคมที่ทุกคนแข่งกันพูดและไม่ค่อยมีใครฟังใคร ใครสามารถเปล่งปอดให้ดังได้มากที่สุด จึงมักเป็นผู้ชนะโดยปริยาย โดยคนมักมองว่าคนแบบนี้ ‘เสียงดัง’ แบบนักเลงหรือเศรษฐีใหม่
7. เสียงดังอีกแบบคือเสียงดังในความหมายของการเปรียบเทียบ หมายถึงถ้าเป็นคนที่มีอำนาจ แม้จะพูดเสียงเบา แต่คนอื่นๆก็จะเงียบและค้อมหัวให้ เป็นการเงียบ รับฟัง และจำนน ความเงียบของคนอื่นจึงขับเน้นให้เสียงของคนคนนั้น ‘ดัง’ ขึ้นมา และหลายครั้งดังเสียยิ่งกว่าคนที่แข่งกันตะโกนเสียงดังด้วย อำนาจแบบนี้มักมีที่มาอีกแบบ โดยคนมักมองว่าคนแบบนี้ ‘เสียงดัง’ แบบผู้ดีเก่า
8. อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยนั้น คนจำนวนมากไม่มีโอกาส ‘เปล่งเสียง’ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังแบบไหนก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีโอกาส (เช่น มีคนตาย ขึ้นบ้านใหม่ ลูกบวช เข้าสู่เทศกาล-ซึ่งคือภาวะยกเว้นจากสภาพที่เป็นจริง ไปพักผ่อนในดินแดนของสัตว์ที่ต่ำกว่ามนุษย์ ไปพักผ่อนเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากภาระจำยอมในชีวิต ฯลฯ) คนจำนวนมากจึงเลือก ‘ส่งเสียงดัง’ ทั้งเพื่อ ‘จำลองแบบ’ ของ ‘แบบจำลอง’ เชิงอำนาจว่าด้วยเสียงดังในสังคม ในลักษณะของคนที่ไม่เคยได้สัมผัสอำนาจเหล่านั้นจริงๆในชีวิตประจำวัน กับเพื่อสำแดงถึงอำนาจน้อยนิดที่พอจะมีอยู่ และเพื่อบอกคนอื่นๆว่า ตัวเองยังพอจะมีตัวตนอยู่บ้าง
9. ในโลกตะวันตกที่ผ่านความ ‘เสียงดัง’ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว ความเงียบคือความหรูหรา แต่ในโลก primitive หรือ pre-modern ที่เงียบนิ่ง เสียงดังของเทศกาลงานฉลองต่างหากที่ฉูดฉาด ฉวัดเฉวียน ดึงดูดใจ มีสีสัน และดู ‘หรูหรา’ มากกว่า โลกแบบหนึ่งจึงให้ความสำคัญกับความเงียบ โลกอีกแบบจึงให้ความสำคัญกับความดัง
10. การเปล่งเสียงดังแสดงอำนาจ คือการแสดงลำดับต่ำสูงทางอำนาจของคน ผ่านความสามารถในการเปล่งเสียงที่เห็นได้ชัดเจน โลกที่บูชาความดัง จึงเป็นโลกที่ไม่อาจมองเห็นความเงียบของคนหมู่มากได้ คนที่เงียบจะถูกทอดทิ้ง
11. คำถามก็คือ สังคมไทยของเราเป็นสังคมแบบไหน เราเป็นสังคมที่ต่างคนต่างต้องการเปล่งเสียงแสดงอำนาจ หรือเป็นสังคมที่เห็นถึงคุณค่าของความเงียบ เราเป็นสังคมดั้งเดิมที่ต้องแข่งขันกันด้วยอำนาจและเสียงดัง หรือเป็นสังคมที่รู้จักเคารพความเห็นต่างของกันและกันจนไม่มีใครต้องตะเบ็งเสียงแสดงความคิดเห็น เพราะทุกเสียง (แม้กระทั่งเสียงของความเงียบ) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้อง ‘ได้ยิน’ ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ
12. คำถามก็คือ เราเป็นสังคมที่ไม่เคย ‘มอบเสียง’ ให้คนตัวเล็กตัวน้อยในเรื่องสำคัญๆของบ้านเมืองหรือเปล่า ผู้คนจึงต้อง ‘เปล่งเสียง’ ในงานเลี้ยง งานปีใหม่ และเทศกาล เพื่อระเบิดระบายความคับข้องข้างในที่อัดแน่นอยู่โดยไม่รู้ตัว และพร้อมกันนั้นก็ใช้ความดังเพื่อกดเหยียดคนที่พอจะกดเหยียดได้ และทำกระทั่งกดเหยียดสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ใน wildlife sanctuary (ตามคอนเซ็ปต์ตะวันตก) ของมัน