ความหลากหลายทางเพศในโลกแห่งเกมคอมฯ (Games & Sexuality #2)

อ่าน : ซีรีส์ Games & Sexuality ตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

 

ตอนที่เกมซูเปอร์มาริโอภาคสอง (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Super Mario USA หรือ Super Mario Bros. 2) กำลังวางแผนสร้างกันอยู่ในยุคแปดศูนย์นั้น มีคนเสนอตัวละครแปลกประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่ง

ตัวละครที่ว่านี้มีชื่อในภาคภาษาอังกฤษว่า เบอร์โด (Birdo) แต่มีชื่อในภาคภาษาญี่ปุ่นว่า แคทเธอรีน (Catherine) มีลักษณะเป็นตัวการ์ตูนแบบที่เรียกว่า Anthropomorphic คือไม่ใช่คน แต่ทำให้มีลักษณะเลียนแบบคน เจ้าเบอร์โดของเรามีตัวสีชมพู รูจมูก (หรือปากก็ไม่แน่ใจ) เป็นรูใหญ่รูเดียว มีขนตางอนเช้ง ติดโบว์สีแดง แลดูน่ารักและแอบมีความ ‘เผ็ช’ อยู่ในตัวเล็กน้อย ด้วยการใส่แวนเพชรวงเป้ง

คนที่เล่นเกมซูเปอร์มาริโอภาคนี้ในเวอร์ชั่นหลังๆ จะคิดว่าเบอร์โด (หรือแคทเธอรีน) เป็นผู้หญิง แต่ที่จริงแล้วตอนที่คิดค้นกันขึ้นมา และเบอร์โดที่ปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นแรกนั้น ผู้สร้างตั้งใจ (และมีเขียนไว้ในคู่มือ) ว่าเบอร์โดเป็นเด็กชายที่ ‘คิดว่าตัวเองเป็นเด็กหญิง’ และอยากให้คนอื่นเรียกเธอว่า ‘เบอร์เด็ตต้า’ (Birdetta) หรือแคธี่ (Cathy) มากกว่า

พูดง่ายๆ ก็คือ เบอร์โดเป็น Transgender นั่นเอง!

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกมออกวางตลาดแล้ว ‘เพศสภาพ’ ของเบอร์โดก็เป็นที่ถกเถียงกันมาก ดังนั้นในตอนหลัง แม้ว่าเบอร์โดจะหน้าเหมือนเดิม แต่คำบรรยายเบอร์โดที่ปรากฏในคู่มือ จะไม่ได้บอกอีกต่อไปว่าเบอร์โดคือเด็กชายที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิง ดังนั้น เพศสภาพของเบอร์โดจึงคลุมเครือ หลายคนคิดว่าเธอเป็นเด็กหญิงธรรมดาๆ

เบอร์โดต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะสามารถรื้อฟื้นสถานภาพความเป็น Transgender ของตัวเองได้ นั่นก็คือเมื่อมาปรากฏตัวในวิดีโอเกมชื่อ Captain Rainbow ในแพลตฟอร์มอย่าง Wii แต่ก็มีเฉพาะในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น

เบอร์โดถือเป็นตัวละคร ‘ข้ามเพศ’ ตัวแรกในวิดีโอเกม ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้นะครับ เพราะเบอร์โดปรากฏตัวในราวปี 1988 แต่ถ้าพูดถึงตัวละครรักเพศเดียวกันคนแรก (คือมีสถานะเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็น ‘ตัว’ คือเป็น Anthropomorphic เหมือนเบอร์โด) ก็ต้องเป็นเกมชื่อ Moonmist ซึ่งเป็นเกมผจญภัยแบบใช้ตัวหนังสือ (Text Adventure) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1986 โดยใน Moonmist มีตัวละครหนึ่งซึ่งเป็นศิลปินหญิง เธอหึงหวงตัวละครหญิงอีกคนหนึ่งที่ต้องแต่งงานกับผู้ชาย นับเป็นตัวละครตัวแรกที่ปรากฏในวิดีโอเกมในฐานะคนรักเพศเดียวกัน

คำถามที่อาจเกิดขึ้นกับหลายคนในตอนนี้ก็คือ เอ…แล้วการที่วิดีโอเกมหรือคอมพิวเตอร์เกมมันเริ่มมีความหลากหลายทางเพศให้เห็นในราวสามสิบปีก่อนโน้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เร็วหรือช้ากันแน่หนอ

ย้อนกลับไปต้นศตวรรษที่แล้วโน้น คือในราวยุคสองศูนย์ถึงสามศูนย์ ใช่! ตอนนั้นยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์หรอกนะครับ แต่มี ‘ความบันเทิง’ ใหม่อีกอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน – นั่นก็คือภาพยนตร์

ในราวปี 1934 เกิดสิ่งที่เรียกว่า Motion Picture Production Code หรือเรียกสั้นๆ ว่า The Hays Code ขึ้นมา ตามชื่อของวิล เฮย์ส (Will Hays) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมดูแลภาพยนตร์ Hays Code นี่ เข้ามากำกับควบคุมศีลธรรมในภาพยนตร์อย่างเต็มที่ในหลายๆ เรื่องนะครับ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันด้วย จึงมีการควบคุมฉากที่คนเพศเดียวกันจูบกัน (ในตอนนั้นที่ลือลั่นสนั่นเมืองก็คือการจูบกับผู้หญิงของมาร์ลีน ดีทริช ดาราชื่อดัง) รวมไปถึงความ ‘ผิดเพี้ยน’ ทางเพศอื่นๆ เช่นการถ้ำมอง หรือการเผยแสดงให้เห็นถึงเรือนร่างของผู้หญิงมากเกินไป

ในวงการเกมอาจไม่ได้มี Hays Code มาคอยกำกับเนื้อหา แต่นักเขียนเกมอย่าง ริฮานนา แพร็ตเช็ต (Rhianna Pratchett) เคยบอกไว้ว่า สิ่งที่วงการเกมมี (โดยเฉพาะต่อความหลากหลายทางเพศ) ก็คือการ ‘รับมรดก’ ทางวิธีคิดและทางวัฒนธรรมมาจาก Hays Code ด้วยการเซนเซอร์ตัวเองเสียก่อน ทำให้วงการเกม โดยเฉพาะเกมใหญ่ๆ ที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ต้อง ‘เซนเซอร์’ ตัวละครที่มีเพศหลากหลายทิ้งไป ทำให้เราไม่ค่อยเห็นตัวละครที่มีความเป็นเกย์เป็นเลสเบี้ยนในเกมต่างๆ มากเท่าไหร่นัก

ตัวแพร็ตเช็ตเองเคยบอกด้วยซ้ำว่า เธออยากให้ตัวละครในเกมอย่าง ลารา ครอฟท์ เป็นเกย์ (จริงๆ คือเป็นเลสเบี้ยน) หรือแสดงความเป็นเกย์ออกมาเต็มตัว แต่เมื่อทำไม่ได้ สิ่งที่เธอและนักเขียนเกมคนอื่นๆ ทำ ก็คือการนำเสนอตัวละครต่างๆ ในเกมให้ออกมา ‘น่าเล่น’ แทน เช่นทำให้มีบุคลิกดึงดูดใจคนเล่นในด้านต่างๆ โดยไม่ไปแตะต้อง ‘กล่องเรื่องเพศ’ ของตัวละคร คือทำให้ตัวละครมี ‘ฉากหน้า’ ในเรื่องเพศเป็นหญิงกับชายที่ชัดเจน 

ดังนั้น แม้ไม่มี Hays Code แต่ตัวละครในเกมจำนวนมากก็ดำเนินรอยตามหนังที่ถูกกำกับด้วย Hays Code ในทศวรรษสามศูนย์ จนเกิดอาการ ‘เชื่อง’ ในบางลักษณะขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้สร้างสรรค์เกมจำนวนหนึ่งก็อยากขบถ จึงพยายามใส่ความหลากหลายทางเพศเข้าไปในตัวละครบางตัวในบางเกม แต่โดยมากมักใส่เข้าไปในแบบที่มองแทบไม่เห็น คนเล่นต้องตีความเอาเอง โดยต้องจับสังเกตเก่ง และต้องเปิดกว้างในเรื่องเพศด้วย จึงจะเห็นได้ว่า ตัวละครนั้นๆ มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง เช่นตัวละคร Aveline de Grandpre ใน Assassin’s Creed ที่เป็นผู้หญิง แต่มีบทหลายตอนพูดถึงเธอเหมือนกับเป็นผู้ชาย แต่หากไม่สังเกตดีๆ ก็อาจไม่รู้ เช่น บางฉากอาจมีตัวละครอื่นพูดถึงเอวีลีนโดยใช้สรรพนามว่า He เป็นต้น

 

img_5546

 

บางคนอาจจะบอกว่า เอ๊ะ! คิดมากไปหรือเปล่า ผู้สร้างเกมอาจจะไม่คิดจะใส่ความเป็นเลสเบี้ยนให้ตัวละครหรอก เพียงแต่เอวีลีนเป็นทหาร เพราะฉะนั้นก็อาจมีตัวละครอื่นเข้าใจผิดได้ว่าเธอเป็นผู้ชาย (ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดแบบที่เรียกว่า Comical Gender Confusion คือสับสนทางเพศในระดับการ์ตูน เหมือนนิยายสมัยโบราณที่ผู้หญิงปลอมตัวเป็นชายโดยแค่ติดหนวดแล้วทุกคนก็เชื่ออะไรแบบนั้น) 

แต่ก็ต้องบอกไว้ด้วยว่า คนที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ตัวละครเอวีลีนใน Assassin’s Creed : Liberation นั้น คนหนึ่งคือจิล เมอร์เรย์ (Jill Murray) หลังจากเขียนเกมนี้แล้ว เธอก็เขียนนิยายเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเด็กสาวที่ ‘คัมเอาท์’ ออกมาเป็นเลสเบี้ยน (ซึ่งก็ต้องบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า – อาจจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ได้)

อย่างไรก็ตาม ที่เราพูดกันไปทั้งหมดนี้ มันคือแค่เรื่อง ‘เพศสภาพ’ ของตัวละครเท่านั้น ยังไม่ได้ไปไกลถึง ‘ความสัมพันธ์’ ของตัวละครในแบบเพศเดียวกันเลย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวละครที่มีเพศหลากหลายอาจจะเกิดมาแล้วหลายสิบปีในเกม แต่ตัวละครที่สามารถมีความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันล่ะครับ เริ่มมีเมื่อไหร่

แน่นอน ความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกัน (Same-Sex Relationships) นั้น ย่อมปรากฏครั้งแรกในเกมประเภท Role-Playing Game หรือ RPG เพราะเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทต่างๆ ซึ่งโดยมากก็มักมีตอนจบประเภทพระเอกได้กับนางเอกอะไรอย่างนั้น ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วพระเอก (หรือนางเอก) จะได้กับคนเพศเดียวกันไม่ได้หรือ

คำตอบที่หลากหลายกว่าพระเอกต้องได้กับนางเอก ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเกมชื่อ Great Greed ซึ่งออกวางตลาดในปี 1992 เกมนี้ไม่มีอะไรมาก แต่ตอนจบ ตัวเอกที่เป็นชายสามารถเลือกได้ว่าจะแต่งงานกับใครบ้าง ตั้งแต่แต่งกับธิดากษัตริย์ที่มีอยู่หลายนาง (ยกเว้นคนหนึ่งที่อายุแค่ 11 ขวบ ซึ่งแสดงให้เห็นการต่อต้าน Pedophile) นอกจากนั้นก็มีนักมายากล ราชินี หรือแม้แต่ตัวกษัตริย์เอง ซึ่งพอได้กันแล้วก็จบ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากมายนัก อาจมีความสัมพันธ์เช่นนี้ปรากฏอยู่บ้าง แต่ก็ประปราย

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ ฝ่ายการตลาดของเกมเชื่อว่า คนเล่นเกมส่วนใหญ่คือเด็กผู้ชาย และเด็กผู้ชายย่อมไม่อยากเล่นเกมที่ผู้ชายได้กันเอง (หรือผู้หญิงได้กันเอง) แต่ความเชื่อนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเกมอย่าง The Sims  อันเป็นเกมจำลองชีวิตคนประสบความสำเร็จเหลือเชื่อ น่ันทำให้ The Sims 2 (ปี 2009) ต้องใส่ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเข้าไปด้วย

ทุกวันนี้ แม้เราจะบอกว่า โลกยอมรับความหลากหลายทางเพศกันหมดแล้ว แต่ถ้าดูดีๆ เราจะพบว่าเกมที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่ไม่มากนัก ผู้ผลิตเกมที่โดดเด่นที่สุดในแนวทางนี้น่าจะเป็นค่าย BioWare ที่ทำเกม RPG หลายเกม โดยให้ตัวละครสามารถ ‘เลือก’ ได้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนเพศไหน เช่นในเกมอย่าง Baldur’s Gae, Mass Effect หรือ Dragon Age แต่ถึงกระนั้นก็ต้องบอกว่ายังมีน้อยเหลือเกิน แม้แต่ Final Fantasy ก็ยังมีอยู่เพียงภาคเดียว คือ Final Fantasy 14 เท่านั้น ที่ตัวละครสามารถมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันได้ แต่ก็ต้องซื้อ Patch เพิ่ม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกมในโลกปัจจุบัน ยังดูคล้ายถูกกำกับด้วย Hays Code อยู่นั่นเอง เพราะผู้ผลิตเกมรายใหญ่ๆ ยังไม่ได้ ‘เปิดกว้าง’ ในเรื่องนี้เท่าที่ควร ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเพศแบบฝังเข้าไปอยู่ในเกม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกำกับควบคุม ก็ต้องมีการ ‘แหกกฎ’ นั่นแหละนะครับ

คุณเคยได้ยินคำว่า Gaymer ไหมครับ?

ปกติแล้ว ในชุมชนนักเล่นเกม (โดยเฉพาะเกมออนไลน์) เขาจะเรียกว่า Gamer กัน แต่ในเกมออนไลน์หลายเกม จะมีกลุ่มผู้เล่นที่ประกาศตัวว่าเป็น LGBT โดยนักเล่นเกมในกลุ่ม Gaymer นี่แหละครับ ที่กำลังพยายามพลิกโฉมวงการเกม เพื่อให้ผู้สร้างเกมต้อง ‘นับรวม’ ความหลากหลายทางเพศเข้าไปในนั้นด้วย

แต่เขาจะทำอย่างไร – ไปติดตามกันต่อในตอนหน้านะครับ

 

อ่าน : ซีรีส์ Games & Sexuality ตอนที่ 3 ได้ ที่นี่