Coming of Age ความกลัว และความเปราะบางของชีวิต

ช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเพื่อนรุ่นน้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองหลายคน ส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนงานหรือไปเรียนต่อ หลายการตัดสินใจของหลายคนไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนดูร่าเริงเข้มแข็งอยู่ภายนอก แต่เมื่อได้คุยกันลึกๆ เราจะพบความขัดแย้งหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

ช่วงวัย 30 กว่าๆ หลายคนเกิด Coming of Age แบบหนึ่ง เป็น Coming of Age ของการอยากผลัดใบ อยากทิ้งชีวิตเก่า อยากตระเวนท่องโลกเหมือนเจ้าชายวัยสิบแปดในนิทานออกผจญภัยอีกครั้ง

หากช่วง 20s เป็นการใช้ชีวิตทดลอง อาจพลิกผันบ้าง โลดโผนหรือผิดพลาดบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติของการเริ่มต้น ยิ่งผิดพลาดเร็วก็ยิ่งมีเวลาแก้ไขมาก

แต่เลข 3 ทำให้หลายคนเริ่มครุ่นคิดจริงจังว่าจะไปทางไหน จะเอาอย่างไรกับชีวิตกันแน่ จะอดทนอยู่กับชีวิตแบบเดิม คาดเดาได้ รู้ว่ามีอุปสรรคอย่างไร แก้ไขพอได้ ควบคุมพอได้ แต่น่าเบื่อหน่ายเพราะเคยคุ้นจนชาชิน

หรือจะลองเสี่ยงบินออกจาก Comfort Zone ไปสู่การทดลองใหม่ๆ อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าแทบทุกคนปรารถนาให้มันเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากอาจไม่มีเวลาในชีวิตให้เสียไปอีกแล้ว ถ้าใช่-ชีวิตก็อาจลงตัว แต่ถ้าไม่ใช่-ก็อาจไม่ส่งผลดีนัก

ผมเคยทำงานอยู่ที่ทำงานแรกด้วยความสุข แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องลาออกมาตอนอายุประมาณ 27-28 ปี ก็ไม่เคยหันกลับไปมองชีวิตที่ผ่านมาซ้ำอีกเลย ปกติจะดูไพ่ยิปซีบ้าง มีคนบอกว่าไพ่สำรับที่ใช้นั้นค่อนข้างแม่น เคยดูไพ่จนตัวเองตัดสินใจไม่เดินทางไปอิตาลีทั้งที่ทำวีซ่าเรียบร้อยแล้วเพราะไพ่บอกว่าไม่ดี พอถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ ก็ปวดท้องต้องผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งถ้าไปเป็นที่อิตาลีคงแย่, แต่พอถึงเวลาต้องเปลี่ยนงานหรือตัดสินใจอะไรทำนองนี้ กลับไม่เคยพึ่งพาไพ่หรือสิ่งอื่นใดเลย นอกจากความต้องการลึกๆข้างในตัวเราเองจริงๆ

เคยลาออกจากงานพร้อมกับคำถามแกมวิงวอนของผู้บริหารว่า-อยากให้เขาทำอย่างไรเพื่อให้เราอยู่ต่อ เขายินดีทำทุกอย่าง, แต่เขาก็รู้ว่าไม่มีวันรั้งตัวเราไว้ได้ เพราะไม่ใช่เงินเดือน ไม่ใช่ตำแหน่ง แต่เป็นเนื้องาน ความสนุก และการได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำต่างหากที่ทำให้เราอยู่ที่ไหนได้หรือไม่ได้ และต่อให้การตัดสินใจนั้นอาจเจ็บปวด ผิดพลาด และสร้างน้ำตาให้แค่ไหน (เหมือนที่เคยเป็นครั้งหนึ่ง) เราก็จะไม่มีวันเสียใจที่ได้ตัดสินใจอย่างนั้นไป

ที่สุดแล้ว ถ้าไม่ตายเสียก่อน วัยของเลข 3 ก็จะผ่านไป ถ้าชีวิตของเราไม่ลงตัว ก็จะมีปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งในที่สุดชีวิตจะนำทางเราไปสู่จุดที่ลงตัวจนได้ในรูปแบบของมันเอง-อย่างน้อยๆก็ชั่วคราว

แต่เมื่อชีวิตลงตัวแล้ว ปัญหาอีกอย่างก็จะตามมา เราจะรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า เวลาในวัยเลข 3 นั้นผ่านไปเร็วกว่าที่เคยเป็นมาในชีวิตทั้งหมด เมื่อเงยหน้าขึ้นจากการทำงานอีกครั้ง และพบความว่างโหวงบางอย่างภายในตัว ทั้งที่ภายนอกคล้ายมีทุกอย่างครบพร้อมเหมือนเป็นโรคชาวนาไซบีเรียในนิยายของมูราคามิ เราจะเริ่มตั้งคำถามใหม่ คล้ายเป็น Coming of Age อีกครั้ง-ว่าแล้วจะอย่างไรต่ออีกเล่า

ยังมีเขาลูกไหนให้ป่ายปีนอีกไหม

ชีวิตทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ขัดแย้งกับตัวเองอยู่เสมอ เมื่อถึงวัยเลข 4 เราอาจรู้สึกว่าชีวิตลงตัวขึ้น นิ่งขึ้น สงบขึ้น มีอิสระขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนานนักหรอก ที่สุดเราก็จะตระหนักว่า ยังมีความปั่นป่วนภายในเหมือนคลื่นใต้น้ำที่รอวันกระแทกปะทุขึ้นมาได้อีก เพราะ Coming of Age ไม่ได้มีครั้งเดียว ถ้าไม่ตายไปเสียก่อน อีกห้าปีสิบปีมันก็จะมาใหม่ซ้ำๆให้เราต้องรับมือกับมัน และการจัดการกับ Coming of Age (หรือถ้าถึงวัยนี้ บางคนอาจเรียกมันว่า Middle Life Crisis) ก็จะยากขึ้นเรื่อยๆตามความซับซ้อนของชีวิตที่เราได้ก่อร่างสร้างมันมา

แต่ปัญหาก็คือ ยิ่งแก่ตัวลง เราจะเหลือพลังเพื่อต่อสู้ดิ้นรนหรือ Freshen Up ชีวิตของเราน้อยลงไปเรื่อยๆ ในอเมริกา คนวัย 45-64 ปี เป็นกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายสูงสุดในระยะหลัง คือตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน บางทีอาจด้วยเหตุผลนี้

บางคนแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการไม่ยอมเติบโตพ้นวัยทำงานหนักของเลข 3 คือยังคงทำงานหนักต่อมาจนตลอดชีวิต ฝังตัวอยู่กับการทำงาน ไม่ยอมเงยหน้าขึ้นมาตั้งคำถามอื่นๆ ขลุกคลุกคลีอยู่กับการต่อสู้ทางธุรกิจ ไม่อยากเห็นท้องฟ้ายามเย็นหรือการคลี่บานและร่วงโรยไปของกลีบดอกไม้ หรือแม้เห็นก็พยายามไม่รู้สึกลึกซึ้งกับอนิจลักษณะของมัน บางทีอาจเพื่อให้ลืมคำถามนั้นของชีวิต และก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง-ที่บางทีพวกเขาอาจทำถูก

สิ่งที่อยากบอกก็คือ เราต้องต่อสู้กับวันวัยของเราไปจนตลอดชีวิตนั่นแหละ ชีวิตก็เป็นทุกข์ของมันอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้นหรอก สิ่งที่เรียกว่า So-Called Happiness มันก็เป็นได้แค่ So-Called แต่ภาวะดิ้นรนเป็นทุกข์ กับความขัดแย้งภายในของเราต่างหากที่จะยั่งยืนถาวรเกิดดับอยู่กับเราไปจนกระทั่งวาระสุดท้าย

ดังนั้นถ้าเราคิดว่าชีวิตมันน่ากลัว มันก็จะน่ากลัวเสมอ แต่ถ้าเรายักไหล่บอกมันว่า-ก็แล้วไงล่ะ น่ากลัวก็จริง แต่จะอย่างไรเราก็ต้องเจอมันอยู่เสมอไม่ใช่หรือ, เราก็จะไม่กลัวความน่ากลัวนั้นอีกต่อไป แต่จะเห็นมันเป็นเพียงความธรรมดาหนึ่งของชีวิตนี้-ก็เท่านั้นเอง