วัฒนธรรมงาน (แบบไทยๆ)

เท่าที่ทำงานมา พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากๆในวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแบบไทยๆ อยู่ที่เราเน้นการรวมศูนย์ (Centralization) ของอำนาจตามวัฒนธรรมแบบไทยๆมากเกินไป, ผลก็คือ

1. คนที่ทำงานราบรื่นไร้ปัญหา จะโดดเด่นสู้คนที่ทำงานมีปัญหา แล้วแก้ปัญหาด้วยการวิ่งโร่ไปหาผู้มีอำนาจไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจจะไม่เคยรู้สึกเลยว่า คนที่ทำงานราบรื่นนั้นมี ‘ตัวตน’ อยู่จริง พวกเขาทำให้ทุกอย่างดำเนินไปราบรื่น ไม่มีอะไรสะดุดกระตุก ที่สุดจึงถูก Taken for granted ทั้งที่เป็นกลุ่มคนสำคัญที่ทำให้องค์กรดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่ผู้บริหารแบบไทยๆก็มักมองเห็นแต่คนที่ถือปัญหาวิ่งเข้ามาขอให้ช่วยแก้ไขให้

2. คนที่ทำงานโดยชอบทำตัวมีปัญหานั้น มัก Internalize ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบ Centralization มาด้วย นั่นคือพยายามทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของอำนาจ (ทั้งที่จริงๆแล้วส่วนใหญ่คือศูนย์กลางของปัญหา) โดยเรียกร้องให้คนอื่นๆทั้งที่อยู่ในระนาบอำนาจเดียวกันและคนที่อยู่เหนือกว่า (ต่ำกว่านั้นไม่ต้องพูดถึง) มาช่วยแก้ปัญหาให้ตัวเอง การแก้ปัญหาร่วมกันเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าโลกหมุนรอบตัวเองมากเกินไป หลายครั้งก็ทำให้กระบวนการทำงานเสียไป และอาจทำให้คนที่ทำงานราบรื่นไร้ปัญหาต้องเสียกระบวนไปด้วย

3. กลุ่มคนที่ทำงานอย่างราบรื่นไร้ปัญหา (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าทำงานเก่ง) นั้น ถ้าจะให้มีตัวตนในองค์กร ก็ต้องพยายาม ‘โชว์’ ว่าตัวเองทำงานโชว์ว่าตัวเองเก่ง แต่การ ‘โชว์’ นั้นอาศัยพลังงาน (ที่ไม่จำเป็น) ไม่น้อย ผลลัพธ์ก็คือถ้าคนเหล่านี้มัวแต่ไปให้ความสำคัญกับความพยายามจะโชว์ให้โดดเด่น สิ่งที่จะเสียไปก็คือการ ‘ทำงานจริง’ ที่ราบรื่น และที่สุดก็จะถูกวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆกลืนกระทั่งกลายไปเป็นคนที่ชอบถือปัญหาวิ่งเข้าหาผู้บริหาร

4. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบ Centralized นั้น ทำให้คนจำนวนหนึ่งชอบแสดงความคิดเห็นในแบบที่ไม่มีการปฏิบัติงานจริง ที่จริงการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ดีมากถึงมากที่สุด เพราะช่วยกระตุ้นทั้งตัวเองและคนอื่น แต่ Centralization ของอำนาจ มักทำให้บางคนอยากพยายาม ‘โชว์’ ความคิดเห็นต่อหน้าผู้บริหารเพื่อสร้างความประทับใจ แต่ประชุมเสร็จแล้วก็จบ ไม่มีเนื้องานต่อเนื่องออกมา แล้วที่สุด คนที่ต้องมา ‘ทำงาน‘ จริงๆ ก็คือคนที่มักจะทำงานราบรื่นไร้ปัญหา (และไร้ตัวตน) นั่นเอง

5. การประชุมคือเวทีที่คนทำงานประเภทที่มีปัญหาจะใช้ในการ ‘โชว์’ เพราะฉะนั้นให้สังเกตองค์กรของตัวเองให้ดีๆนะครับ ว่าการประชุมมีลักษณะอย่างไร ยาวนานเกินเหตุเพราะมีบางคนโชว์วิสัยทัศน์จนคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต้องเสียเวลาทำงานไหม หรือว่ากระชับสั้น ประชุมเสร็จแล้วทุกคนกลับไปทำงานได้ ต้องอย่าลืมนะครับ ว่าการประชุมไม่ใช่การทำงาน

6. การประชุมที่เป็น ‘เวทีโชว์’ นั้น จะสังเกตได้ว่า ‘บทสนทนา’ บนโต๊ะประชุมจะต้องยิงผ่าน Center คือผู้บริหารหรือประธานในที่ประชุม แต่ไม่ใช่บทสนทนาที่ยิงไปยิงมาระหว่างคนที่นั่งอยู่ตามตำแหน่งต่างๆบนโต๊ะประชุมอย่างหลากหลายและเสมอภาค การยิงผ่าน Center ก็คือการพยายามโชว์ให้ Center (หรือศูนย์กลางอำนาจ) เห็น ว่าฉันเป็นต้นคิดสิ่งนั้นๆ แต่มักล้มเหลวในการปฏิบัติงานจริง