1
คนที่ชอบท่องเที่ยวเดินทาง ส่วนใหญ่มักบ่นว่าต้องเก็บเงินมากมาย กว่าจะซื้อตั๋วเครื่องบิน กว่าจะจองโรงแรม จะไปโรงแรมราคาถูกๆก็กระไรอยู่ ดังนั้น การเดินทางท่องเที่ยวของเราแต่ละคนจึงมักเป็น ‘ต้นทุน’ ที่สูง บางคนถึงขั้นไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อไปเที่ยว แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับมาทำงานใช้หนี้
แต่คุณรู้ไหมว่า ในโลกปัจจุบันนี้ เทรนด์ท่องเที่ยวแบบไหนกำลังมาแรงที่สุด
พูดอีกก็ถูกอีกนะครับ ว่ามันคือเทรนด์ของการท่องเที่ยวแบบ ‘ยั่งยืน’ หรือ Sustainable Travel นั่นแปลว่าเวลาที่เราเดินทางไปเที่ยว เราควรจะปล่อย ‘รอยเท้าคาร์บอน’ ให้น้อยที่สุดใช่ไหมครับ
แต่การท่องเที่ยวที่ต้องการความหรูหราสะดวกสบาย หรือเดินทางไปไกลๆสุดขอบโลก ไปแตะขอบฟ้าที่ไม่มีใครเคยแตะทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่การเดินทางที่ช่วยรักษาโลกสักเท่าไหร่ เพราะมักเป็นการเดินทางที่ ‘ก่อคาร์บอน’ มหาศาล
บางคนอาจจะเถียงว่า แต่เดี๋ยวนี้มีเทรนด์ท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วนะครับ นั่นคือการท่องเที่ยวแบบ ‘นิยมท้องถิ่น’ (ในที่นี้จะขอใช้คำว่า Localism) ซึ่งแปลว่าเป็นการเดินทางแบบที่ราคาไม่แพงมากนัก พักในโฮมสเตย์ เกสต์เฮาส์ หรือใช้บริการแอร์บีเอ็นบี หรือบางคนก็หาญกล้าถึงขั้นใช้บริการฟรีอย่าง Couchsurfing กันเลย
ใช่ครับ การท่องเที่ยวแบบ Localism นั้น พูดได้เลยว่ากำลังมาแรง เพราะมันเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ไม่น้อย นั่นคือได้ตระเวนไปในพื้นที่ ฝังตัวอยู่กับคนพื้นถิ่น เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเหล่านั้น แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร กว่าจะเก็บเกี่ยวซึมซับความเป็นท้องถิ่นนั้นๆเอาไว้ได้ สรุปว่าก็ต้องใช้ ‘ต้นทุน’ ในด้านเวลาอีกนั่นแหละครับ ซึ่งหลายคนคงมีไม่มากพอ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากแนะนำเทรนด์ท่องเที่ยวแบบใหม่อีกแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
นี่เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแบบที่การันตีได้เลยว่าเป็น Sustainable Travel และสุดแสนจะ Localism ไปในเวลาเดียวกัน
มันคือการท่องเที่ยวใน ‘ท้องถิ่น’ ของตัวเอง!
2
คำว่า Staycation มาจากคำว่า Stay บวกกับคำว่า Vacation ซึ่งฟังดูขัดแย้งกันอยู่สักหน่อยนะครับ เนื่องจากเวลาเรานึกถึง Vacation เราก็มักจะนึกถึงการเดินทางไปไกลๆ อาจจะไปนอนจิบค็อกเทลอยู่ริมชายหาดที่ไหนสักแห่ง หรือไปเดินป่าเดินเขา หรือไม่ก็ขับรถเที่ยวไปบนเส้นทางสวยๆ ส่วนคำว่า Stay มีความหมายว่า ‘อยู่กับที่’ ซึ่งในที่นี่ก็คือการ ‘อยู่บ้าน’ ด้วยซ้ำไป ดังนั้น Staycation ซึ่งเหมือนการเอาคำสองคำที่มีความหมายขัดแย้งกันมารวมเข้าด้วยกัน
คำถามก็คือ-แล้วมันจะมี ‘ความหมาย’ อะไรในเรื่องของการท่องเที่ยวได้หรือ
คำตอบก็คือ-มีได้สิครับ
3
ว่ากันว่า คำว่า Staycation เป็นคำที่นักแสดงตลกชาวแคนาดาชื่อ Brent Butt เป็นคนคิดขึ้นมา เขาพูดคำนี้ในรายการโทรทัศน์ชื่อ Corner Gas ในราวปี 2005 ปรากฏว่ามันกลายเป็นคำ ‘ฮิต’ ในหมู่คนอเมริกันขึ้นมาในอีกปีสองปีให้หลัง
คุณรู้ไหมครับว่าเพราะอะไรคำนี้ถึงฮิต?
ใช่แล้วครับ เพราะในราวปี 2007 หรือปีกว่าๆหลังคุณเบรนต์ บัตต์ คิดคำนี้ขึ้นมา ก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไงครับ วิกฤตนี้กินเวลายาวนานหลายปี ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2010 นั่นทำให้คนเลือกที่จะ ‘เที่ยว’ ในแบบที่เรียกว่า Staycation กันมากขึ้น
ในอังกฤษ คำว่า Staycation เกิดฮิตขึ้นมาในราวปี 2009 ด้วยเหตุผลคล้ายๆกันเลยครับ เพราะในช่วงนั้น ค่าเงินปอนด์อ่อนยวบ ทำให้คนอังกฤษไม่มีเงินจะจับจ่ายใช้สอย ผลลัพธ์ก็คือพวกเขาเลือกที่จะไม่ไป Vaction ประจำปีกันที่ไหน แต่ Stay อยู่ที่บ้าน จนกลายเป็น Staycation กันไปเลย
แม้กระทั่งนิตยสารทางการเงินอย่าง Forbes ก็เคยมีบทความเกี่ยวกับ Staycation ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาสภาพเศรษฐกิจได้นะครับ เพราะปกติแล้ว เวลาที่คนเราไป Vaction หรือท่องเที่ยวในต่างประเทศนั้น เราจะนำเงินติดตัวไปใช้จ่ายด้วย และการใช้จ่ายเงินเวลาท่องเที่ยว เราจะไม่ใช่เงินกันแบบ ‘ปกติ’ คือมักจะใช้เงินมากกว่าในชีวิตประจำวัน เช่น ยอมจ่ายค่าอาหารหรือค่าโรงแรมแพงขึ้นโดยไม่บ่นว่าอะไร ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศมากกว่าปกติ
Forbes บอกว่าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น Staycation เป็นสิ่งแรกที่ทำได้ เพราะการท่องเที่ยวคืองบประมาณที่ฟุ่มเฟือยที่สุดอย่างหนึ่งของครอบครัว เราต้องจองโรงแรม ต้องเดินทาง ต้องจองตั๋วเครื่องบิน แถมยังต้อง ‘ลงแรง’ ด้วยการเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยและบางครั้งก็เสี่ยงอันตรายด้วย
Forbes แนะนำว่า ถ้าเราไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงทั้งหลายจากการเดินทางไกลๆ ก็สามารถทำ Stacation หรือ ‘พักร้อนอยู่กับบ้าน’ ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องอยู่ติดบ้านเฉยๆเท่านั้น เพราะ Staycation ก็คือการหันมา ‘ทำความรู้จัก’ กับพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ และคิดว่าเรารู้จักทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แล้ว
แต่คำถามก็คือ-เรารู้จักพื้นที่ที่เราอยู่กันดีแล้วจริงๆหรือ?
4
มีคนเชียงใหม่จำนวนมากไม่เคยไป ‘ทัวร์ร้านกาแฟ’ ในย่านนิมมานเหมินทร์เหมือนที่คนกรุงเทพฯ นิยมแห่แหนกันไป
มีคนกรุงเทพฯ อีกจำนวนมาก ที่ไม่รู้ว่าย่านบางลำพูนั้น เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกซอกซอยแล้ว จะมีลักษณะเป็นเกสต์เฮาส์และเป็น Backpackers’ Paradise ที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆชนิดที่เดินๆไปอาจไม่นึกว่าเป็นกรุงเทพฯ
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเรามัก ‘มองข้าม’ พื้นที่ที่เราอยู่ เรามักคิดว่าเรารู้จักที่ที่เราอยู่ดีแล้ว แต่คุณเคยซื้อหนังสือไกด์บุ๊คของคนต่างชาติมาอ่านไหม ในนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่วัดพระแก้วและเดอะแกรนด์พาเลซเท่านั้น แต่หนังสือไกด์บุ๊คเหล่านี้จะแนะนำลึกละเอียดลงไปถึงร้านรวงเล็กๆที่อาจอยู่ใกล้กับออฟฟิศของคุณ แต่คุณไม่เคยสนใจเลยเพราะไม่มีใครในแวดวงเพื่อนฝูงรู้จักก็ได้
Staycation ก็คือการทำตัวเป็น ‘นักท่องเที่ยว’ ในบ้านของตัวเองนั่นแหละครับ
กระทั่งนิตยสารเก๋ฮิปอย่าง Real Simple ก็เคยแนะนำ Staycation เอาไว้ว่า ถ้าจะลองทำดู ก็ให้ ‘ขอเวลานอก’ อย่างเต็มที่จริงๆ เพราะบางครั้งเวลาที่เราลาหยุดงานไปเที่ยวต่างประเทศ เจ้านายจะเกรงใจ โธ่! อุตส่าห์ซื้อตั๋วเครื่องบินตั้งแพง เลยไม่โทรไปกวนให้ทำงานให้ แต่ถ้าเราบอกใครต่อใครว่า เราหยุดงานเพื่อจะ ‘อยู่บ้าน’ ก็เป็นไปได้ว่าทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานจะคิดว่าเราอยู่ใกล้ จึงสามารถกวนให้ทำงานได้ทุกเมื่อ
ดังนั้น Real Simple จึงแนะนำว่า กฎข้อแรกของ Staycation ก็คือการ ‘หยุด’ จริงๆ ด้วยการกำจัดนัดหมายทั้งหลายให้หมด ทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จ เหมือนกับเวลาที่เราจะไปเที่ยวต่างประเทศจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ปิดโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็ไปซื้อซิมใหม่มาใช้ชั่วคราว เพื่อไม่ให้ต้องรับรู้กับการถูกตามตัวกลับไปทำงาน
กระทั่งการเช็คอีเมลหรือเฟซบุ๊ค ก็ควรจะจำกัดเวลาของตัวเองด้วย เพราะถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศจริงๆ เรามักจะ ‘ออฟไลน์’ มากขึ้น แต่ Staycation อาจยังทำให้เราพะวงและเกิดอาการ ‘ตัดไม่ขาด’ ขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นจึงต้องตัดขาดจากสื่อสังคมในระดับหนึ่ง รวมถึงตัดขาดจากการรับข่าวสารด้วย
5
Staycation ไม่ได้แปลว่าจะต้อง ‘อยู่บ้าน’ เฉยๆนะครับ แต่ Staycation คือการเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้เวลา ‘สำรวจ’ และ ‘มองดู’ ที่ที่เราอยู่ ด้วยสายตาของ ‘คนนอก’ คือเมื่อเราถอนตัวออกจากภาระหน้าที่การงานทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ลองสำรวจดูว่าเรามองดูโลกที่เราอยู่อย่างไร ผนังตึกที่เราเห็นทุกวันมีอะไรแปลกประหลาดไหม พิพิธภัณฑ์หรือศาลเจ้าเล็กๆตรงข้างบ้านที่เราไม่เคยมีเวลาเข้าไปนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
Forbes แนะนำว่า เราสามารถ ‘ตั้งเป้า’ ไว้ก่อนได้ ว่าเราจะสำรวจพื้นที่ในท้องถิ่นของเราอย่างไร เช่น จะสำรวจในเชิงศิลปะ, ธรรมชาติ หรือประวัติศาสตร์ แล้วลองใช้ ‘สายตา’ แบบนั้นในการมอง จะทำให้เราได้ข้อมูลใหม่ๆในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ตัวอย่างกิจกรรมที่ Forbes แนะนำก็เช่น ลองไปทัวร์ปั่นจักรยานที่จัดให้คนต่างชาติปั่นกันเป็นกลุ่มเพื่อสำรวจเมือง หรือลองซื้อตั๋วชมการแสดงอะไรบางอย่างที่ปกติแล้วมีแต่คนต่างชาติดู ปกติแล้ว ตั๋วพวกนี้มักจะมีราคาแพงกว่าปกติ และเราในฐานะ ‘คนท้องถิ่น’ ก็มักจะไม่เข้าไปชมหรือเข้าร่วมกิจกรรม เพราะคิดว่าตัวเอง ‘รู้ดี’ อยู่แล้วว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง จะเสียเงินแพงๆไปเพื่ออะไรกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้รู้หมดทุกเรื่อง ยังมีอะไรที่เราไม่รู้ซ่อนอยู่อีกมาก และการจ่ายตั๋ว ‘แพง’ ในที่นี้ ก็เทียบไม่ได้เลยกับการต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและค่าโรงแรมเวลาไป Vacation ตามปกติ
ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ บางทีคุณอาจจะลองเช่าเรือหางยาวทัวร์คลอง หรือไม่ก็ลองเดินเท้าจากเอกมัยไปสยาม หรือลองแวะเข้าไปในสถานที่ที่ไม่เคยเข้า เช่น สเตเดียม, พิพิธภัณฑ์, สวนสาธารณะ หรือห้องสมุดประชาชน การเดินหรือการตั้งใจ ‘มองหา’ สิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน จะทำให้คุณได้พบสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน
Staycation นั้นเป็นที่นิยมเพราะให้ประโยชน์หลายด้าน อย่างแรกสุดเลยคือประหยัดเงิน ไม่มีค่าเครื่องบิน โรงแรม ค่าเช่ารถ มีผลสำรวจของ American Automobile Association บอกว่า คนอเมริกันนั้น ใช้เงินเฉลี่ยกับการ Vacation ราววันละ 244 เหรียญสำหรับสองคน แต่ถ้ารวมค่าตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายของลูกๆเข้าไปด้วย และไปพักผ่อนกันนาน 10 วัน ค่าใช้จ่ายสามารถสูงได้ถึง 10,000 เหรียญ
แต่ Staycation ตัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงไปเกือบหมด
ในปี 2016 นี้ มีการสำรวจโดย WalletHub พบว่า คนอเมริกันถึงเกือบสองในสาม วางแผนจะ Stay Local (หรือ Staycation) กัน โดยมีการสำรวจลึกลงไปด้วยว่า เมืองไหนเหมาะที่จะ Stacation บ้าง เขาพบว่าเมืองที่น่าจะทำ Staycation มากๆนั้น จะต้องเป็นเมืองที่มี ‘กิจกรรม’ ให้ทำหลากหลาย เช่น มีสระว่ายน้ำ, สวนสัตว์, เบียร์การ์เดน, สนามกอล์ฟ, สนามเทนนิส, ร้านกาแฟ, พิพิธภัณฑ์, สปา ฯลน ซึ่งจะทำให้คนมีความสุขกับ Staycation ในเมืองของตัวเอง
แต่กระนั้น การมีกิจกรรมต่างๆเหล่านี้มากเฉยๆก็ไม่พอนะครับ เพราะต้อง ‘มีมาก’ ในแบบที่เฉลี่ยต่อหัวแล้วก็ยังมากอยู่ด้วย การท่องเที่ยวแบบ Staycation ถึงจะให้ความรู้สึกสบายๆผ่อนคลายไม่ต้องแย่งชิงกัน
เขายกตัวอย่างเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดต่อหัว ว่าคือนิวออร์ลีนส์, วอชิงตันดีซี, เซนต์หลุยส์ ส่วนเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ต่อหัวน้อยที่สุดก็เช่นเจอร์ซีย์ซิตี้ เป็นต้น
ส่วนเมืองที่มีร้านกาแฟต่อหัวเยอะมาก ก็คือซานฟรานซิสโก, ซีแอตเทิล, พอร์ตแลนด์ เป็นต้น เมืองที่มีเบียร์การ์เดนต่อหัวเยอะๆได้แก่พอร์ตแลนด์, โอ๊คแลนด์, ออร์แลนโด, โพรวิเดนซ์ เมืองที่มีสวนสัตว์เยอะคือลาสเวกัส, ไมอามี่, แทมปา, ออร์แลนโด เป็นต้น
โดยเมื่อดูภาพรวมแล้ว เมืองที่มีการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation) มาเป็นอันดับหนึ่ง คือฟอร์ตลอเดอร์เดลในฟลอริดา ส่วนเมืองที่มีอาหารและความบันเทิง (Food & Enterainment) มาเป็นอันดับหนึ่งคือออร์แลนโดในฟลอริดาอีกเช่นกัน สำหรับเมืองที่เหมาะกับการพักผ่อนและผ่อนคลาย (Rest & Relaxation) คือเมืองแจ็คสัน ในมิสซิสซิปปี้ แต่ถ้้าดูคะแนนรวมทั้งหมดแล้ว ชาวเมืองออร์แลนโดนับว่าโชคดีที่สุด เพราะถือเป็นเมืองอันดับหนึ่งในการทำ Staycation ในปี 2016 นี้
นอกเหนือไปจากเรื่องของต้นทุนทางการเงิน และประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว Staycation ยังมีประโยชน์อื่นอีกหลายด้านนะครับ
ในแง่หนึ่ง การไปเที่ยวแบบที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวา เปิดโอกาสให้เราได้ใช้เวลากับคนที่ไปด้วยกัน (เช่น ครอบครัว คนรัก) เต็มที่ โดยไม่มีความกดดันเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนเวลาเราเดินทางไปไกลๆ
ในอีกแง่หนึ่ง Staycation ก็คือการสร้างสำนึกพื้นถิ่นหรือ Localism ให้เกิดขึ้นจริง กี่ครั้งกันที่เราจะมีโอกาสได้ ‘มอง’ ที่ที่เราอยู่ด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่เราทำแบบนั้นได้ เราจะดึงตัวเองออกจากความคุ้นชินเดิมๆ พาเราไปมองเห็นข้อบกพร่องหรือข้อดีในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และอาจทำให้เรารู้แน่ชัดว่า ที่ที่เราอยู่ยังขาดสาธารณูปโภคอะไรอีกไหม
Staycation จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราเห็น ‘ความเป็นท้องถิ่น’ ของเราเอง (Own Locality) ว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งหากมีการเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้มากๆ จะเปิดโอกาสให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นที่เราอยู่ได้อย่างสร้างสรรค์ Staycation จึงเป็น Localism ขั้นสุด ที่ไม่ได้เพียงนิยมท้องถิ่นของคนอื่น แต่เป็นการนิยมท้องถิ่นของเราเอง ผ่านสำนึกการท่องเที่ยวแบบ ‘คนนอก’ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ ‘สำรวจ’ ท้องถิ่นที่เราคุ้นเคยที่สุดแต่อาจรู้จักมันน้อยที่สุด
บางทีอาจเป็นเหตุผลเหล่านี้ก็ได้ ที่ทำให้ Staycation กลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจของปีนี้