หนังสือฟิสิกส์ที่อ่านสนุกที่สุดในโลก!

ตกใจกับหนังสือเล่มนี้ ว่าทำไมมันสนุกได้ เพราะหนังสือมีชื่อชวนง่วงเหงาหาวหลับมาก – ว่า Our Mathematical Universe คือประมาณว่าจะอธิบายจักรวาลด้วยคณิตศาสตร์นี่แหละ

แล้วพลิกอ่านดู เหย…คนเขียนเป็นนักฟิสิกส์อีก น่าจะน่าเบื่อตายกันไปข้างนึงเลย พลิกๆดูก็มีกราฟ มีรูปภาพ มีตัวเลขต่างๆ ดูบ้าบอคอแตก น่าจะซีเรียสเอามากๆ แถมหนังสือยังหนาปึ้ก ใครจะไปอยากอ่าน คนเขียนเป็นใครก็ไม่รู้จัก ชื่อประหลาดมาก คือ Max Tegmark ฟังแล้วยังกับชื่อยาแก้ปวด

แต่พออ่านพารากราฟแรกในบทนำ ก็ถึงแก่กาลกิริยา คือทำอย่างอื่นไม่ได้ ต้องอ่านโดยฉับพลันต่อเนื่อง เพราะมันมีลีลาวรรณกรรมชั้นเลิศมาก

อ่านไปจนจบบทนำในร้านหนังสือนั่นแหละ เพราะตัวหนังสือของคุณแม็กซ์ เท็คมาร์ค (โอ๊ย…ชื่อ!) มันดึงดูดเอามากๆครับ นี่ซื้อมาพร้อมๆกับเล่มอื่นๆอีกหลายเล่ม พบว่าเล่มนี้ที่หนาที่สุด ดูเครียด’ ที่สุด ฟอนต์เล็กกระจิ๋วหลิวที่สุด กลับอ่านสนุกที่สุด

นี่เป็นหนังสือที่พยายามอธิบาย Reality ด้วยฟิสิกส์น่ะครับ (ฟังแล้วเทิร์นออฟทันที!) แล้วก็ใช้คณิตศาสตร์นี่แหละมาเป็นเครื่องมือ (เทิร์นออฟยกกำลังสอง) โดยชวนเรา Zoom Out คือถอยห่างออกไปหาอะไรที่ใหญ่มากๆ เช่นจักรวาล แล้วก็ Zoom In คือดึงเข้ามาหาอะไรที่เล็กมากๆ เช่นอนุภาคต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพกับควอนตัมฟิสิกส์มาอธิบาย (เทิร์นออฟยกกำลังแปดสิบหก)

แต่ประเด็นก็คือ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการน่าเบื่อเท่านั้น แต่มันเป็นอัตชีวประวัติของคนเขียนด้วย เขาร้อยเรียงเรื่องในชีวิต ตั้งแต่ถูกรถชนและอีกจิปาถะ เข้ากับความรู้ทางฟิสิกส์ทั้งปวง

เขาเล่าว่าทำไมถึงเกิด Religious Experience กับฟิสิกส์ขึ้นมาได้จนเลือกเรียนฟิสิกส์ ทั้งที่แต่ก่อนก็เกลียดฟิสิกส์ คือแค่อ่าน Surely You’re Joking ของ ริชาร์ด ไฟน์แมน แล้วพบว่าไฟน์แมนไม่ได้พูดถึงฟิสิกส์เท่าไหร่ แต่พูดถึงการปลดล็อก (แบบโจรน่ะนะครับ) ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าพิคล็อค แล้วก็การจับสาว (ภาษาอังกฤษคือพิคเกิร์ล 55) แต่รู้เลยว่าไฟน์แมน ‘รัก’ ฟิสิกส์ ด้วยการอ่านระหว่างบรรทัด เขาเลยสงสัยว่ามีด้วยหรือคนที่รักฟิสิกส์ เลยอยากเรียนขึ้นมา

หรือเวลาเขาเดินทาง ถ้าเขาไม่อยากคุย ก็จะแนะนำคนอื่นว่าทำงานด้านฟิสิกส์ คนก็จะเลิกคุยกับเขา แต่ถ้าอยากคุยด้วย ก็จะบอกว่าทำงานด้าน Astronomy แล้วคนก็จะมาขอให้เขาดูหมอให้ หรือไม่ก็บอกว่าทำงานด้าน Cosmology แล้วคนก็จะมาถามเขาเรื่องเครื่องสำอาง อะไรทำนองนี้ คือมีอารมณ์ขันโปรยปรายตลอดทาง แถมลีลาภาษาก็สนุก ชอบมาก

เล่าให้ฟังดีกว่าว่าเท่าที่อ่านไปสามสิบกว่าหน้า ได้เจออะไรบ้าง

1. พวกนักคิดสมัยโบราณนี่ เขา ‘มโน’ กันโคตรเก่งเลยนะครับ อย่างถ้าขอให้คุณคำนวณ ‘ขนาด’ ของโลกออกมาโดยไม่ต้องไปไหน ไม่ได้มีไม้วัดยักษ์ ไม่ได้มีดาวเทียม คุณจะทำยังไงครับ นักปราชญ์กรีกโบราณอย่าง Eratosthenes วัดโดยวิธีง่ายมาก คือดูว่าเมืองนึงอยู่ห่างจากอีกเมืองนึงเท่าไหร่ แล้วคิดเป็นกี่องศา ทีนี้ถ้าโลกกลมก็คือ 360 องศา แล้วก็เอามาหารกันง่ายๆ ผลลัพธ์ออกมาได้เส้นรอบวงของโลก 39,700 กิโลเมตร เป็นตัวเลขที่เกือบเท่ากับตัวเลขจริง คือ 40,000 กิโลเมตร

2. ซึ่งคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ยังคำนวณผิดเลยนะครับ โคลัมบัสคำนวณว่าแล่นไปแค่ 3,700 กม. ก็น่าจะเจอตะวันออกแล้ว แต่คำนวณผิดนี่แหละ เลยทำให้ได้ทุนมาเดินเรือ ถ้าคำนวณถูกเป็นหลายหมื่น กม. คงไม่ได้ทุน แล้วก็โชคดีอีกที่มีทวีปอเมริกามาขวางกั้น ไม่งั้นคงเดินเรือกันไปจนตายก็ไม่เจออะไร

3. ได้ขนาดโลกแล้ว ขนาดดวงจันทร์ก็ไม่ยากครับ นักคิดกรีก Aristarchos แค่สังเกตจันทรุปราคา ก็เห็นขนาด ‘เงา’ ของโลกที่ทาบลงไปบนดวงจันทร์ ก็ได้ตัวเลขออกมาแล้วว่าดวงจันทร์เล็กกว่าโลก 3.7 เท่า

4. ขนาดดวงจันทร์นำไปสู่ ‘ระยะทาง’ จากโลกสู่ดวงจันทร์ โดยใช้เทคนิคที่น่าทึ่งมาก คือเอานิ้วก้อยวัดเอา (555) คือเอานิ้วก้อยยื่นออกไปทาบวัตถุที่อยู่ไกลๆ ถ้ารู้ขนาดของมันเทียบกับนิ้วก้อยและระยะของนิ้วก้อยกับตัว ก็จะหาระยะทางได้ นี่มันคณิตศาสตร์มโนเอาล้วนๆเลยนะครับ!

5. ส่วนระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์นี่ ก็วัดกันมาตั้งแต่กรีกโบราณแล้วเหมือนกัน โดยดูจากจันทรุปราคาอีกเหมือนกัน ในหนังสือเล่มนี้บอกเล่าไว้อย่างละเอียดพอสมควร คือมันไม่ใช่หนังสือที่ ‘ง่ายๆ’ บอกเลยว่ายาก แต่เป็นความยากที่อ่านสนุกมากๆ ทำให้เรารู้จริงๆว่า อ๋อ ไอ้ที่เขาเขียนกันไว้ในหนังสือพวก Pop Science แบบหยาบๆง่ายๆซิมพลิฟายด์นั่น จริงๆมันคำนวณกันมาแบบนี้นะๆ

6. อีกเรื่องที่น่าทึ่งก็คือการวัดระยะทางของดาว (ซึ่งจะไปวัดยังไงล่ะเนี่ย) แต่เขาใช้เทคนิคที่เรียกว่า Parallax คือให้คุณยื่นมือออกไปข้างหน้า แล้วมองนิ้วโป้ง จากนั้นก็หลับตาข้างนึง สลับกันไปมา จะเห็นว่านิ้วโป้งมันเปลี่ยนตำแหน่งได้ นักดาราศาสตร์ก็ใช้วิธีเดียวกันเปี๊ยบเลยครับ คือรอให้โลกหมุนจากด้านนึงของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ถ่ายภาพไว้ แล้วก็ถ่ายอีกภาพตอนโลกหมุนไปอีกฟาก จากนั้นก็เอามาดูว่ามีดาวดวงไหนอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เท่านี้ก็วัดระยะทางได้แล้วละครับ

7. อีกเรื่องที่ (ก็) น่าทึ่งมากๆ (อีกเหมือนกัน) ก็คือ เพิ่งรู้ว่าใน ‘สเปคตรัม’ ของแสง (เช่นแสงสีรุ้ง) นั้น มันจะแถบเส้นสีดำๆอยู่ด้วย (จริงๆน่าจะเคยเรียนมาแล้วสมัยเรียนฟิสิกส์ แต่ไม่สนใจ 555) แล้วอีแถบเส้นพวกนี้แหละจะเป็นเหมือนลายนิ้วมือที่บอกได้ว่าแสงนั้นมาจากธาตุอะไร ทำให้รู้ได้ว่าดาวที่อยู่ห่างไกลมากๆประกอบไปด้วยธาตุอะไรบ้าง แล้วความสว่างที่เปลี่ยนไปแม้แค่กระจิ๊ดเดียว ก็ทำให้เราวัดอะไรได้ตั้งเยอะแยะ เช่น อุณหภูมิ ความดัน ระยะทาง การโคจร สนามแม่เหล็ก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องใช้อะไรซับซ้อนมากนัก (แค่เครื่องสเปคโตรกราฟเท่านั้น) แต่ทำโดยผ่านการคำนวณทางคณิตศาสตร์แทบจะทั้งหมด

8. วิธีเล่าเรื่องในเล่มนี้จะเป็นแบบ-ตอนย่าของผมยังสาวๆนี่ ย่าผมอยู่ในโลกคนละใบกับผมเลยนะครับ เพราะตอนนั้น อย่างมากที่สุดย่าก็คงตื่นเต้นกับดาวที่อยู่ห่างไปสักพันปีแสงเท่านั้น แต่ดาวแบบนั้นทุกวันนี้เราถือว่าเป็น cosmic backyard หรือ ‘ดาวในสวนหลังบ้าน’ เท่านั้นเอง หรือเวลาจะเล่าเรื่องความสว่างของดาว ก็ไปเล่าถึงภาพสตารี่ไนท์ของแวนโก๊ะห์ก่อน อะไรทำนองนี้

สรุปก็คือ เป็นหนังสือชื่อเครียดที่อ่านสนุกเอามากๆ!