คุณเคยเกลียดบางสิ่งในตัวที่เหมือนกับพ่อแม่ของคุณบ้างไหม

คุณเคยเกลียดบางสิ่งในตัวเองที่เหมือนกับพ่อแม่ของคุณบ้างไหมครับ

ฟังดูอกตัญญูมาก แต่เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกอย่างนั้น เช่น พ่อหรือแม่ของเราอาจเป็นคนขี้บ่นอย่างเหลือร้าย ตื่นขึ้นมาก็บ่น บ่น และบ่น โดยเป้าหมายที่ถูกบ่นมากที่สุดก็คือลูกหรือตัวเรานี่แหละ ทำให้เราตั้งปณิธานเอาไว้ว่า จะไม่มีวันเป็นคนขี้บ่นเหมือนพ่อหรือแม่ของเราเด็ดขาด

แต่แล้ววันหนึ่ง-เมื่อตื่นขึ้นมา, เราก็พบว่าเรากลายเป็นคนขี้บ่น

เราเหมือนพ่อหรือแม่ของเรา ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่รวมไปถึงนิสัยใจคอ ทั้งนิสัยดีๆและนิสัยไม่ดีที่ไม่เราชอบด้วย!

ที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์-คือความสัมพันธ์ที่ลูกมีให้กับพ่อแม่

โดยทั่วไปในฉากหน้าของสังคมไทย เรามักจะเห็นลูกปฏิบัติอย่างดีกับพ่อแม่ มีน้อยคนมากที่จะบอกว่า พ่อแม่ของตัวเองมีปัญหาอะไรบ้าง และปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความขัดแย้งในความสัมพันธ์อย่างไร ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะในสังคมไทย-จีน ความกตัญญูเป็นอุดมการณ์สำคัญ การโต้แย้งหรือกระทั่งบอกว่าไม่ชอบมิติไหนในตัวพ่อหรือแม่ของเรา อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องอกตัญญูได้ง่ายๆ คนจำนวนมากจึงเลือกปิดปากตัวเอง ไม่พูดถึง ‘ปัญหา’ ลึกๆที่ตัวเองมีกับพ่อแม่ และนั่นยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆซึมร้าวอัดอั้นลงไปในหัวอกมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางคราวก็ยากจะแก้และเกิดระเบิดออกมา

ปัญหาที่ว่า มักเกิดกับลูกวัยทำงานที่เริ่มก้าวขึ้นมาเป็นหลักของครอบครัว ในขณะที่พ่อแม่ผู้เคยทำหน้าที่นั้น เริ่มโรยรา และยังยอมรับไม่ได้ว่าบทบาทของตัวเองกำลังลดน้อยถอยลง จึงเกิดการ ‘ต่อสู้ต่อรอง’ เชิงอำนาจในครอบครัวขึ้น แต่เป็นการต่อสู้ที่แนบเนียน ซ่อนลึก ไม่รู้ตัว จนหลายคนยากจะมองเห็น แต่เมื่อมองไม่เห็น ก็ยอมรับไม่ได้ว่ามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น จึงหาทางแก้อะไรไม่ได้

หลายเรื่องที่ได้รับฟังมา เป็นความขัดแย้งที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่ที่จริงแล้วไม่เล็กน้อยเลย เช่น ลูกซื้อบ้านใหม่ พ่อแม่ปรารถนาดีซื้อเฟอร์นิเจอร์มาส่งให้แบบเซอร์ไพรส์ แต่ลูกไม่ได้ชอบเฟอร์นิเจอร์แบบที่พ่อแม่ชอบ ทว่าก็ต้องกล้ำกลืนฝืนใช้ เพราะถ้ายกให้คนอื่นก็เหมือนอกตัญญู ลูกก็เลยต้อง ‘ทน’ อยู่กับ ‘ไอ้โซฟาบ้านั่น’ (คำพูดของผู้เป็นลูก) จนพ่อตาย แล้วแม่ตายตามไปในเวลาไม่นานนัก เขาถึงเอามันไปเผาเพื่อส่งเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นไปให้พ่อแม่ใช้ในปรโลก โดยก่อนเผาเขาสารภาพกับแม่หน้าโลงศพด้วยน้ำตานองหน้าว่า ‘เกลียด’ เฟอร์นิเจอร์นั้นมาชั่วชีวิต แต่ก็ต้องทนอยู่กับมันมาเพราะ ‘รัก’ พ่อกับแม่

เป็นความรักที่ปะปนอยู่กับความเกลียดอย่างยากจะสางแยกออกจากกัน

โดยทั่วไป พ่อแม่ที่ยึดมั่นในศีลธรรมบางชุด (โดยเฉพาะศีลธรรมของคนชั้นกลาง) ก็มักจะอยากปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดีตามนิยมของสังคม แต่การปลูกฝังกับการ ‘ถ่ายทอดทางพันธุกรรม’ นั้นเป็นคนละเรื่อง บ่อยครั้ง ลูกจึงพบว่าตัวเองมีร่องรอยความคิดและอากัปกิริยาบางอย่างเหมือนพ่อหรือแม่ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยที่น่ารักหรือน่าชังก็ตาม

สิ่งที่ทั้งพ่อแม่และลูกจะทำได้ ก็คือการเลิกผ้าคลุมแห่งอุดมการณ์ความกตัญญูนั้นขึ้นเพื่อตรวจสอบความรู้สึกระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมา-ว่านี่คือสิ่งที่ลูกไม่ชอบในตัวพ่อแม่ และนี่คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบในตัวลูก แต่หากต่างฝ่ายต่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้รู้และหาวิธีอยู่ร่วมกัน

แต่วิธีการเช่นนี้มักเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเป็นวิธีที่ง่ายต่อการเกิดความน้อยใจ เสียใจ และโกรธเกรี้ยว เสี่ยงนำไปสู่การตัดขาดระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าลืมว่าพ่อแม่ของเรา-ลูกของเรา, ต่างก็คือ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่มี entity ของเขาเอง ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่พรหม และไม่ใช่ผู้สืบทอดของใคร เราจึงพึง ‘เคารพ’ พวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ ‘สมบัติ’ หรือคนที่เป็น ‘ของของฉัน’ อย่างที่อุดมการณ์ครอบครัวหลอมเราตลอดมา

หากทำได้อย่างนี้ การเห็นพ่อแม่ในตัวเรา-ไม่ว่าจะเป็นมิติที่น่าชิงชังหรือชื่นชม ก็จะไม่ทำให้เรายึดติดอยู่กับลักษณะนั้นจนหลงเหลิงหรือรังเกียจตัวเองมากเกินไป

แน่นอน-ไม่มีใครบอกว่าทั้งหมดนี้คือเรื่องง่าย…