ความเงียบเป็นสิ่งหรูหราสำหรับบางคน แต่กับอีกหลายคน การได้ ‘เปล่งเสียง’ ให้ดังที่สุด-เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในชีวิต
สำหรับพวกเขา-การเปล่งเสียง, คือการแสดงออกของอำนาจ
ในสังคมไทย คนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่สุด เช่นตำแหน่งหัวโต๊ะในที่ประชุมหรือบนโต๊ะอาหาร มักเป็นคนที่สามารถจะ ‘เสียงดัง’ ได้มากที่สุด ทั้งเสียงดังในความหมายตรงตามตัวอักษร และเสียงดังในความหมายของการเปรียบเทียบ
เสียงดังในความหมายตรงตามตัวอักษร ก็คือเสียงดังจริงๆ เรามักจะรู้สึกว่า คนที่ ‘เสียงดัง’ ได้มากที่สุด คือคนที่ ‘ใหญ่’ ที่สุด ภาพของคนที่เสียงดังจึงมักเป็นภาพของ ‘เจ๊ใหญ่’ หรือ ‘ลูกพี่’ ที่สามารถทุบโต๊ะตัดสินใจ หรือ ‘พูดคนเดียว’ ได้นานที่สุด (ไม่ว่าคนอื่นจะฟังหรือไม่ก็ตาม) ยิ่งในสังคมที่ทุกคนแข่งกันพูดและไม่ค่อยมีใครฟังใคร ใครสามารถเปล่งปอดประดิษฐ์ลมให้เสียดเส้นเสียงได้ดังที่สุด จึงมักเป็นผู้ชนะโดยปริยาย
ส่วน ‘เสียงดัง’ ในความหมายของการเปรียบเทียบ หมายถึงต่อให้คนที่นั่งหัวโต๊ะคนนั้นพูดเสียงเบาเท่าไหร่ คนอื่นก็ต้องเงียบ รับฟัง และจำนน ดังนั้น ความเงียบของคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่ขับเน้นให้เสียงของคนคนนั้น ‘ดัง’ ขึ้นมาได้เองในที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงพูดได้ว่า ‘สังคม’ ณ ที่นั้นๆ มีฉันทานุมัติให้คนคนนั้นที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ ได้สำแดงออกทางอำนาจด้วยการเปล่งเสียงได้ดังที่สุด
เสียงดังจึงคืออำนาจ
และกลับกัน, ความเงียบคือการยอมจำนน คือความพ่ายแพ้ คือการศิโรราบ และคือสำนึกของไพร่ ทาส ผู้น้อย ผู้ด้อยอำนาจ
สังคมที่พูดได้ว่า-ความเงียบคือสิ่งหรูหรา จึงเป็นสังคมที่มีสำนึกบางอย่างแตกต่างอย่างสุดขั้วจากสังคมที่บูชาเสียงดัง
เป็นไปได้-ว่าชีวิตดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ชีวิตแบบ pre-modern คือชีวิตที่ขลุกคลุกอยู่กับความเงียบ ดังนั้นเสียงที่ดังกว่าระดับปกติ (เช่นในเทศกาล) จึงเป็นการแสดงออกซึ่งสภาวะหรูหราบางอย่างที่ผิดแผกไปจากความน่าเบื่อของชีวิตราบเรียบ
แต่สำหรับหลายสังคมที่ถือว่า ‘ศิวิไลซ์’ แล้ว ความเงียบคือสิ่งพึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นในตู้รถไฟที่โตเกียว ลอนดอน หรือห้องสมุดในนิวยอร์ค ความเงียบที่ผุดกำเนิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายและดังสนั่นของชีวิต จึงเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นแล้วมอบให้แก่กันและกันในบางพื้นที่และบางโอกาส เพื่อให้ชีวิตได้ลิ้มรส ‘ความเงียบ’ ที่ขาดหายไปบ้าง
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วสังคมไทยของเราเล่า เราเป็นสังคมแบบไหน
เราเป็นสังคมที่ต่างคนต่างต้องการเปล่งเสียงแสดงอำนาจ หรือเป็นสังคมที่เห็นถึงคุณค่าของความเงียบ
เราเป็นสังคมดั้งเดิมที่ต้องแข่งขันกันด้วยอำนาจและเสียงดัง หรือเป็นสังคมที่รู้จักเคารพความเห็นต่างของกันและกันจนไม่มีใครต้องตะเบ็งเสียงแสดงความคิดเห็น เพราะทุกเสียงล้วนเป็นสิ่งที่ ‘ได้ยิน’ อยู่เสมอ
เราเป็นสังคมที่ไม่เคยมอบเสียงให้ผู้คนในเรื่องสำคัญๆของบ้านเมืองหรือเปล่า ผู้คนจึงต้อง ‘เปล่งเสียง’ ในงานเลี้ยง งานปีใหม่ และเทศกาล เพื่อระเบิดระบายความคับข้องข้างในที่อัดแน่นอยู่โดยไม่รู้ตัว
เราต้องการความเงียบ-หรือเราต้องการเสียงดัง
นั่นคือคำถาม,
คำถามที่บ่งบอกได้ว่า-ตัวตนของเราเป็นอย่างไร…