ปีที่แล้ว คือปี 2016 การท่องเที่ยวสวีเดนมีแคมเปญน่ารักมากๆออกมาให้คนทั่วโลกได้ ‘เล่น’ กัน
วิธีเล่นนั้นง่ายมาก คือแค่โทรศัพท์ที่ไปที่เบอร์ +46 771 793 336 เท่านั้นแหละ คุณก็จะได้คุยกับ ‘สวีเดน’ จริงๆ
คุยกับสวีเดน! มันแปลว่าอะไรกัน?
เวลาเราโทรไปเบอร์ที่ว่านี้ โทรศัพท์จะพาเราไปที่ส่วนกลางอันหนึ่ง แล้วเจ้าส่วนกลางนี้ก็จะโอนสายเราไปหา ‘ชาวสวีเดนคนหนึ่ง ที่ไหนสักแห่งในสวีเดน’ (A random Swede, somewhere in Sweden) ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ใครก็ได้ในสวีเดนหรอกนะครับ แต่เป็นคนที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ และโหลด app อันนึงไว้ในโทรศัพท์เป็นฐานข้อมูล แล้วเวลามีคนโทรมาก็รับสาย แล้วก็พูดคุยกันได้
คำถามก็คือ-จะทำแบบนี้ไปทำไม
เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 1766 สวีเดนถือเป็นประเทศแรกนะครับที่ ‘ล้มเลิก’ การเซนเซอร์ พูดง่ายๆก็คือ สวีเดนเป็นประเทศแรกที่ ‘เซนเซอร์การเซนเซอร์’ เพราะฉะนั้นเขาจึงอยากเฉลิมฉลอง 250 ของการเซนเซอร์การเซนเซอร์ (ให้สิ้นซาก) ด้วยการให้คนโทรไปคุยกับคนสวีเดน
(เรายินดีให้คุณโทรมากี่โมงก็ได้ แต่ว่า…เราอาจจะหลับอยู่)
แม้เป็นโครงการของการท่องเที่ยวสวีเดน แต่เมื่อคนสวีเดนคนนั้นรับสาย ไม่ได้แปลว่าคนรับสายจะทำหน้าที่เป็น ‘เซลส์ขายประเทศ’ ด้วยการบอกว่าสวีเดนดีอย่างนั้นอย่างนี้ สวีเดนน่ามาเที่ยวอย่างนั้นอย่างนี้หรอกนะครับ แต่เป้าหมายของโครงการนี้ที่สอดรับกับการเฉลิมฉลองที่ว่า ก็คือการให้คนสวีเดนที่รับสายนั้น สามารถ ‘พูดอะไรก็ได้’
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะ ‘ด่าประเทศแม่ตัวเองให้คนชาติอื่นฟัง’ อย่างไรก็ได้-ไม่มีปัญหาเลย!
แน่นอน จำนวนมากเป็นคำถามพื้นๆ และคำตอบก็ตอบไปในแง่บวก เช่น ถามว่าสวีเดนอากาศเป็นอย่างไร ชอบไหม คนสวีเดนตั้งชื่อหมาว่าอะไร คนสวีเดนกินอะไรเป็นอาหารเช้า ชอบวงดนตรีสวีเดนอย่าง ABBA หรือเปล่า รวมไปถึงคนสวีเดนคิดอย่างไรกับโดนัลด์ ทรัมป์ ฯลฯ
คำถามอื่นๆที่ชวนให้คนด่าประเทศของตัวเองก็อย่างเช่นเรื่องการเก็บภาษี หรือนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จะสะท้อนให้เห็นด้วยว่าคนสวีเดนนั้นคิดอย่างไรกันแน่
‘เบอร์โทรสวีเดน’ หรือ Swedish Number ที่ว่านี้ เปิดให้บริการอยู่นาน 79 วัน (ตอนนี้ปิดไปแล้วนะครับ ไม่ต้องโทรไปหรอก แต่แอบให้เบอร์ข้างบนไว้ เป็นการกลั่นแกล้งคนที่อ่านไม่เกินสามบรรทัดแล้วรีบโทรไป 555) ปรากฏว่ารวมทั้งหมดแล้ว มีคนโทรมาคิดเป็นเวลาทั้งหมดถึง 367 วันเศษๆ มีทั้งหมด 197,678 สาย โดยมีคนจากสหรัฐอเมริกาโทรมามากที่สุด (32%) ตามด้วยอังกฤษ (7%) เนเธอร์แลนด์ (3%) จีน (3%) เยอรมนี (3%) ตุรกี (3%) และออสเตรเลีย (3%)
แม้จะปิดโครงการไปแล้ว แต่ต้องบอกว่าเป็นแคมเปญที่สร้างสรรค์และสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาและความภาคภูมิใจที่อยู่ลึกๆในเรื่องเสรีภาพมากๆเลยนะครับ