ในหนังสือ The Rise of Robts คุณมาร์ติน ฟอร์ด ผู้เขียน ‘เตือน’ เราเอาไว้ว่า
The evaporation of thousands of skilled information technology jobs is likely a precursor for a much more wide-ranging impact on knowledge-based employment.
นั่นคือเขากำลังบอกว่า การที่งานที่ต้องใช้ทักษะด้านเทคโนโลยีกำลังหายไป อาจเป็นเครื่องเตือนล่วงหน้าก็ได้ว่าในอนาคต งานที่ใช้สติปัญญาความรู้อย่างที่เราภูมิใจเสมอมาว่าเป็นงานของมนุษย์-ก็อาจจะหายไปด้วยเช่นกัน
หายไปเพราะหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่!
Wall Street Journal เพิ่งมีบทความทำนายว่า ในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า สติปัญญาเทียมหรือ Arititicial Intelligence จะ ‘ฉลาด’ ยิ่งกว่าสมองมนุษย์ และถ้ายิ่งนำเอาเทคโนโลยี ‘ภายใน’ (อย่างความฉลาด) ไปผนวกรวมกับเทคโนโลยี ‘ภายนอก’ (อย่างการสร้างผิวหนังร่างกายให้หุ่นยนต์) ในอนาคตเราอาจแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำ ว่าที่เห็นเดินๆนั่งๆ เห็นสวยหล่อน่าจีบน่าตกหลุมรักนั้น จริงๆแล้วคือมนุษย์หรือหุ่นยนต์กันแน่
ในวันนี้ เวลาพูดถึงหุ่นยนต์ หลายคนอาจยังนึกถึงหุ่นแบบโรโบคอป คือแบบแข็งๆกร้าวๆ กระด้างๆ มีหน้าที่เฉพาะอะไรบางอย่าง ทำให้มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนมนุษย์ ยังติดรูปแบบกร้าวๆแข็งๆของโลหะในแบบเก่าๆอยู่ หรือไม่อีกที ก็อาจจะนึกถึงเทรนด์ของการทำหุ่นยนต์ให้เป็นเหมือนมนุษย์ไปเลย อย่างเช่น ‘เอวา’ ในหนังเรื่อง Ex-Machina คือเป็นเหมือนคนจนแยกไม่ออก
แต่ที่จริงแล้ว หุ่นยนต์แห่งโลกอนาคตอาจไม่ได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งหรอกนะครับ
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเวลาเรานึกถึง ‘วิวัฒนาการ’ ของหุ่นยนต์ เรามักจะเอา ‘มนุษย์’ เป็นจุดหมาย คือไปคิดว่าหุ่นยนต์จะต้องอยู่ในรูปแบบเดียว คือมีมือแขนขา มีหัว มีหน้าตาที่จำลองมาจากมนุษย์ เหมือนว่ามนุษย์เราเป็นพระเจ้าที่สร้างหุ่นยนต์โดยจำลอง ‘พระฉายา’ ของพระเจ้าเข้าไปไว้ในนั้น
แต่ที่จริงแล้ว วิวัฒนาการของหุ่นยนต์ไม่เหมือนกับวิธีคิดอิงศาสนาแบบนั้นหรอกนะครับ
ที่เหมือนมากกว่า-ก็คือเหมือนกับ ‘วิวัฒนาการ’ ที่เกิดขึ้นจริงๆในสิ่งมีชีวิต!
พูดง่ายๆก็คือ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ไม่ได้มีรูปแบบเดียวใช่ไหมครับ แต่มันหลากหลายสุดพรรณนาได้ หุ่นยนต์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอย่างเดียว แต่สามารถมี Robo-Diversity ได้หลากหลายมากๆ แบบเดียวกับสัตว์ในอาณาจักรสัตว์ หรือพืชในอาณาจักรพืชนั่นแหละครับ
ที่จริงแล้ว ฐานคิดในการสร้างหุ่นยนต์ให้หลากหลายนั้น เกิดขึ้นตาม ‘หน้าที่’ ของมัน เรียกอย่างเป็นทางการว่า Functional Diversity คือมีรูปร่างหน้าตาสัมพันธ์กับงานที่หุ่นยนต์นั้นๆทำ แต่ตอนหลังๆ ความหลากหลายที่ว่าเกิดมากขึ้นจนแทบเรียกได้ว่าไม่รู้จบกันเลยทีเดียว หน้าที่ของหุ่นยนต์ก็ยิบย่อยมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ทำให้เกิดหุ่นยนต์ใหม่ๆขึ้นมาจนเหมือนเป็นอาณาจักรสัตว์หรืออาณาจักรพืชก็ว่าได้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการทำอนุกรมวิธานแยกแยะหุ่นยนต์ออกเป็นกลุ่มๆก็ได้ เพราะมันเริ่มเยอะแยะมากมายเหลือเกิน
หุ่นยนต์ในโลกอนาคตจึงน่าจะเต็มไปด้วยหุ่นหน้าตาแปลกๆ เหมือนสัตว์ใต้ทะเลลึกที่เราไม่คุ้นเคย มันอาจเหมือนอะไรได้ร้อยพันอย่างจนเราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!
ตัวอย่างหุ่นยนต์
Octobot : เป็นหุ่นยนต์ตัวจิ๋ว หน้าตาคล้ายๆหมึก (ในความหมายของ ‘ปลาหมึก’ ที่ไม่ใช่ปลาน่ะนะครับ ไม่ใช่หมึกสีดำๆ) มันทำมาจากยางซิลิโคน มีขนาดราว 2.5 นิ้ว การที่มันตัวนิ่ม ทำให้มันสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ จึงเข้าถึงที่แคบๆหรือพื้นที่บางอย่างที่หุ่นยนต์ตัวแข็งๆทำไม่ได้ ซึ่งในอนาคต หุ่นยนต์แบบนี้จะเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมันมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่และผู้คนได้ดีกว่าหุ่นยนต์แบบที่เป็นชิ้นส่วนแข็ง
Biobot : เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์อย่างเดียว แต่มีการใส่เทคโนโลยีชีวภาพเข้าไปด้วย เรียกว่าเป็น Biohybrid Robot คือเป็นหุ่นยนต์ที่มีความเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้นด้วย ด้วยการผสมผสานเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตเข้าไปในนั้นผ่านการทำพันธุวิศวกรรม ทำให้เกิดหุ่นยนต์ที่สร้างพลังงานขึ้นได้เองโดยใช้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหรือเซลล์ โดยจะมีการกระตุ้นให้เซลล์ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้าหรือแสง เซลล์ทั้งหลายที่รวมกลุ่มกันอยู่จะมีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อ คือหดตัวได้ ทำให้หุ่นยนต์นั้นสามารถคลานหรือว่ายน้ำได้ หุ่นยนต์แบบนี้ บางทีก็เรียกว่า Biobot ซึ่งมีข้อดีก็คือ มันไม่สร้างผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ได้ใช้แบตเตอรี แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าน่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะหากในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI สามารถทำจำลองตัวเองได้ ก็อาจเกิดเหตุการณ์เหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์สยองขวัญขึ้นมาได้
Gumby Bot : เป็นหุ่นยนต์ที่คุณ ‘พิมพ์’ ออกมาได้เองโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติที่บ้าน จะเป็นหุ่นยนต์ที่โค้งงอได้ ดูแล้วไม่แข็ง (อีกเหมือนกัน) รูปร่างของมันจะไม่คงที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามการใช้งาน โดยเจ้าหุ่น Gumby Bot นี้ ดูเผินๆแล้วเหมือนสัตว์ประหลาดจิ๋วมาก หน้าที่อย่างหนึ่งก็คือเข้าไปไขน็อตต่างๆ โดยตัวมันจะมีลักษณะคล้ายๆหมึกจิ๋ว ที่จะงอแขนขาเข้าไปรัดน็อตต่างๆตามรูปร่างที่ต้องการได้เอง บังคับโดยใช้ความร้อน ทำให้หุ่นยนต์ Gumby Bot นี้ ซอกซอนเข้าไปไขตรงโน้นตรงนี้ได้หมด