ผมว่าความทรงจำเป็นเรื่องแปลก ยิ่งเรามีอายุมากขึ้น ความทรงจำที่อยู่ห่างไกลเราที่สุด กลับชัดแจ้งเสียยิ่งกว่าความทรงจำที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน คล้ายกับสมองของเราบันทึกความทรงจำเหล่านั้นไว้ด้วยหัวใจ จึงทำให้เราหวนระลึกถึงความทรงจำเก่าๆได้ราวกับมันเพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้เอง
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงชอบนั่งฟังผู้อาวุโสเล่าเรื่องราวต่างๆในอดีต เพราะคล้ายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ปะปนกันอยู่ในกระแสกาลนั้น ได้รื้อฟื้นกลับขึ้นมามีชีวิตใหม่อีกครั้งกับความทรงจำอันแสนไกลที่แจ่มชัด
ผมไม่เคยสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดเมื่อเรามีอายุมากขึ้น เราถึงอยากบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในวัยเด็กให้กับคนรุ่นหลังฟัง ไม่ใช่เพราะเราอยากโอ้อวดหรือใฝ่ฝันจะย้อนเวลากลับไปสู่คืนวันอันแสนงามในอดีตหรอก
แต่เพราะช่วงเวลาเหล่านั้นมันแจ่มชัดเสียเหลือเกินต่างหากเล่า
เมื่อเรายังเด็ก เมื่อน้ำค้างยังแวววับให้เห็นในยามเช้า เมื่อดอกไม้ทุกดอกล้วนมีสีสันงดงามน่าตื่นตะลึง เมื่อเราเห็นโลกเป็นครั้งแรก และคิดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นภาพสดแจ่มของคืนวันเหล่านั้นที่ผุดขึ้นมาต่างหาก ที่ทำให้เราอยากบอกเล่าให้ใครสักคนฟัง และหากยิ่งได้จารึกออกมาเป็นตัวอักษร ก็ยิ่งทรงคุณค่าในความรู้สึก
หนังสือประเภทที่ผมชอบอ่านมากที่สุด จึงเป็นหนังสือชีวประวัติ โดยเฉพาะหากเป็นอัตชีวประวัติ คือหนังสือที่ผู้เขียนคือเจ้าของเรื่องด้วยตัวเอง ก็ยิ่งหลงรักและพร้อมจะจมดิ่งลงไปกับประวัติศาสตร์ส่วนตัวอันแสนงดงามนั้น แม้หลายคนจะค่อนขอดหนังสือประเภทอัตชีวประวัติบางเล่มว่าเข้าข้างตัวเองจนเกินงาม แต่ผมว่า อย่างน้อยที่สุด นั่นก็คือแง่มุมชีวิตที่เจ้าของชีวิตเป็นผู้มองเห็น เมื่อมองย้อนกลับไปในฐานะผู้ยึดกุมความทรงจำ เขาหรือเธอคนนั้นจึงมีสิทธิด้วยประการทั้งปวงที่จะบอกเล่าได้ว่า เรื่องราวในมุมเล็กๆจากสายตาของตนนั้นเป็นอย่างไร
แล้วเรื่องราวเหล่านั้นก็จะออกมาประกวดประขันกับเรื่องราวอื่นๆในสายธารแห่งกาลเวลาได้เองนั่นแหละ อย่ากังวลไปเลยว่าจะต้องมีผู้ถูกหรือผิดอยู่เสมอ เพราะโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่เคยเป็นอย่างนั้นหรอก มันมีมุมที่ถูกและมุมที่ผิด แต่ไม่มีอะไรหรือใครที่ถูกหรือผิดโดยสมบูรณ์
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมประพฤติตนเหมือนใครคนหนึ่งผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้รีบเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อจะได้ใช้เวลาก่อนพริ้มตาหลับเพื่อดื่มด่ำกับมหากาพย์ของมาร์แซล พรุสต์ ผมเองก็รีบเข้านอนเช่นกัน ไม่ใช่เพื่ออ่านมหากาพย์ที่ไหน แต่เพื่อค่อยๆละเลียดไปกับหนังสือแสนสนุกอย่าง ‘เกิดเป็นคนใต้’ ของ ‘สามัญชนคนใต้’ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ตัวจริงอีกคนหนึ่งของเมืองไทย อย่างอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว
หนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติ นั่นหมายความว่า อาจารย์ล้อมเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมดด้วยตัวของท่านเอง ท่านเล่าเรื่องเหมือนผู้ใหญ่เล่าให้เด็กๆที่กำลังนั่งล้อมวงอยู่บนนอกชานฟังด้วยเรื่องราวในชีวิตของท่าน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความทรงจำและความเป็นมา ทว่าด้วยความเป็นปราชญ์ที่ช่างสังเกตและจดจำ ท่านได้แทรก ‘ความรู้’ ปนเข้าไปในเนื้อหาชนิดที่ผมอยากเรียกว่า ‘มหาศาล’
ผมทึ่งมากที่ได้รับรู้ถึงเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน อาทิเรื่องของ ‘เหรียญตั้งราด’ ที่ชาวบ้านใช้ในเวลาคลอดลูก โดยเหรียญเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหรียญของต่างประเทศ เช่นเหรียญไทร ที่เป็นของสเปน, เหรียญนก ที่เป็นของเม็กซิโก หรือเหรียญไม้เท้า ที่เป็นเหรียญของอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายและเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคนี้มาแต่โบราณ และได้เข้าใจถึงเรื่องเงินรัชชูปการ ว่าในสมัยอดีตนั้น ประชาชนถูกรังแครังคัดด้วยนโยบายนี้อย่างไร กว่าที่จะยกเลิกไปได้โดยมีผู้ประท้วงอย่าง นรินทร์ กลึง เป็น ‘แกนนำ’ รวมไปถึงเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างโคกช้างตาย อันเป็นที่ที่พ่อของอาจารย์ล้อมยิงช้างป่าตาย หรือเรื่องอาการป่วยเป็น ‘ปรวด’ หรืออาการบวมที่ศีรษะ รวมไปถึงการรักษาด้วยวิถีแบบชาวบ้าน การฝั้นเทียน การทำน้ำมันมะพร้าว และการทำไต้
เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ยัดเยียดเข้ามาเป็นตำรา ทว่าผุดพรายออกมาเมื่อถึงจังหวะ แทรกปนอยู่กับอัตชีวประวัติ ความเป็นมา อารมณ์ความรู้สึก และความทรงจำอันแจ่มชัด
ยิ่งเล่า ยิ่งฟัง ยิ่งเขียน ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งพาเรากลับสู่อดีต ไม่ใช่อดีตของตัวผู้เขียนเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นปราชญ์ที่รู้จริง ท่านจึงพาเราท่องไปสู่โลกและสังคม ชนชั้น ระบบความเชื่อ ความคิด อารมณ์ขัน และวิถีแห่งชีวิตของผู้คนในอดีต
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมค่อยๆละเลียดหนังสือเล่มนี้ทีละน้อย
ช่างเหมือนการย้อนสู่อดีตโดยไม่ต้องมีเครื่องย้อนเวลาใดๆ
ขอเพียงมีสองมือเอาไว้ถือหนังสือเล่มนี้ และอีกสองตาเอาไว้อ่าน เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่อาบอิ่มอยู่กับความทรงจำอันแสนแจ้งชัดนั้น
สำหรับผม นี่คือการสอนชีวิตด้วยชีวิตโดยแท้…
3 หนังสือชีวประวัติที่อยากให้คุณอ่าน
-เกิดวังปารุสก์ : เล่มนี้คุณพลาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นหนังสือพระประวัติในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์แล้ว ยังบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อด้วยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย
-จากยมราชถึงสุขุมวิท : เหตุการณ์ใน 5 รัชกาล : เล่มนี้เป็นงานเขียนของคุณประสงค์ สุขุม ซึ่งบอกเล่าประวัติของต้นตระกูลสุขุม อย่างเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต่อด้วยพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยถึง 5 รัชกาล
-พุทธบูรณา ชีวิประวัติพุทธทาส ฉบับท่าพระจันทร์ : เขียนโดย สุวินัย ภรณวลัย เป็นเล่มที่เล่าประวัติของท่านพุทธทาสผ่านสายตาของผู้เขียนซึ่งปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น