รีวิว : บันทึกในกลักไม้ขีด โดย Umberto Eco | สนุก แสบ คัน แต่อาจไม่เข้าหูคนรุ่นใหม่

อ่าน ‘บันทึกในกลักไม้ขีด’ ของ Umberto Eco แล้วขำมาก แอบคิดว่า คนรุ่นใหม่ไม่น่าจะอ่านพ้น 13 บทแรก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้มือถือ แทบทั้งนั้น

แล้ว Eco ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยปลื้มวิถีชีวิตพวกนี้สักเท่าไหร่ บางตอนเขาทำตัวเป็น ‘มนุษย์ลุง’ เต็มที่ด้วยซ้ำ เช่น เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเป็นประเภท ‘สังคมก้มหน้า’ กดมือถือเดินสวนมาแบบไม่มองทาง เขาเลยแกล้งหยุดนิ่งแล้วหันหลัง ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นชนเขาจริงๆ ด้วย แต่เขาขืนตัวเอาไว้ ตัวเองเลยไม่เป็นไร แต่มือถือตกพื้น

ที่หลายคนอาจเห็นว่าแย่ ใจร้าย นิสัยไม่ดี และไม่ PC เอาเลย ก็คือ Eco บอกว่า

 


ผมหวังอย่างเดียวว่าโทรศัพท์ตกพื้นแล้วจะพัง และขอแนะนำให้คนที่เจอสถานการณ์ทำนองนี้ทำแบบเดียวกับผม จริงอยู่ละว่าพวกติดโทรศัพท์จนเลิกไม่ได้นั้นเราต้องฆ่าทิ้งตั้งแต่เด็กๆ แต่เนื่องจากว่าคนอย่างพระเจ้าเฮโรดมหาราชนั้นไม่ได้หาได้ทุกวัน ฉะนั้นได้ทำโทษตอนโตก็ยังดี แม้พวกเขาคงไม่มีวันเข้าใจว่าตัวเองตกลงไปในหุบเหวลึกแค่ไหน และจะยังทำแบบเดิมต่อไป


 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า Eco เข้าใจโลกยุคใหม่พวกนี้ไม่ค่อยได้ ข้อดีก็คือ หนังสือใส่ปีที่เขียนบทความแต่ละบทเอาไว้ด้วย ก็เลยทำให้เข้าใจได้ว่า นี่คือบทความที่อยู่บนรอยต่อของยุคสมัย ส่วนใหญ่เขียนขึ้นระหว่างปี 2000-2010s กว่าๆ ซึ่งเป็นช่วงที่โลกออนไลน์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นมาก (ผมเข้าใจเอาเองว่าหลังจากนี้คงไม่เข้มข้นเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา)

ดังนั้น บทความของ Eco จึงเป็นเหมือนการพยายามทำความเข้าใจโลกใหม่ของคนที่คุ้นเคยและเติบโตกับโลกเก่ามาตลอด แต่ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ วิธีการของคน ‘โลกเก่า’ (ซึ่งอาจจะรวมถึงตัวผมเองด้วย) ก็คือวิธีเขียน วิธีคิด วิธีจิกกัด ที่แสนจะนุ่มนวลอ่อนโยน ค่อยๆ ทำอย่างแช่มช้า ประมาณว่าเสือกมีดคมกริบตัดขั้วหัวใจจนตายแล้ว คนอ่านยังไม่รู้ตัว นอนตายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอะไรทำนองนั้น

บทความในหนังสือเล่มนี้ มีแก่นอยู่ตรง ‘สังคมไหล’ (Liquid Society) ที่ Eco บอกว่าเกิดขึ้นจากโพสต์โมเดิร์นนิสซึม ทำให้ ‘เรื่องเล่าหลัก’ (ผมคิดว่าน่าจะคือ Grand Narrative) ถูกท้าทายและรื้อจนพังทลาย มีการมองอดีตด้วยสายตาชี้เล่นและเสียดเย้ย บทแรกของหนังสือพูดถึง ‘สังคมไหล’ นี้เอาไว้ชัดเจน อาจจะอ่านยากและแลดูลึกไปสักหน่อยสำหรับคนอ่านทั่วไป แต่สำหรับนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ ถ้ามาอ่านก็อาจจะบอกว่าไม่มีอะไรใหม่นัก

แต่กระนั้นก็ดี ข้อเสนอสำคัญของ Eco ก็คือ เราต้องรู้ตัวให้ได้ว่าเราอยู่ในสังคมไหล และต้องหาเครื่องมือใหม่ๆ มาทำความเข้าใจมัน

บทความในหนังสือเล่มนี้ของ Eco ก็คือวิธีทำความเข้าใจสังคมไหลในแบบของเขาที่พกพาเอาอดีตและยุคสมัยแบบหนึ่งมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเขาไม่รู้ตัวหรอกว่ามีอคติอะไรแฝงอยู่บ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน วิธีการของ Eco ก็กำลังบอกคนรุ่นใหม่ๆ ไปด้วยในตัวว่า เราเองก็อาจตกจมอยู่ในมหาสมุทรแห่งอคติบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกัน

มนุษย์เราถนัดเห็นอคติของคนอื่น แต่ไม่ค่อยเห็นอคติของตัวเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพราะเราตกจมอยู่ในอคติของตัวเรานี่แหละ เราเลยเห็นอคติของคนอื่นที่ต่างจากเราได้ชัดเจนเหลือเกิน

ดังนั้น การอ่าน Eco โดยตระหนักถึงทั้งอคติของเราและของเขาอยู่เสมอ จะทำให้ ‘บันทึกในกลักไม้ขีด’ เป็นงานเขียนที่สนุกและ เอร็ดอร่อย กับมุมมองจิกกัด ภาษา ศิลปะ และการเปรียบเปรยคมๆ ที่หาไม่ได้อีกแล้วในโลกออนไลน์

เพราะในนั้นมักมีแต่ดราม่าตรงไปตรงมาที่ออกจะทื่อ